ข่าวแจ้งตลาดหลักทรัพย์
คำอธิบายงบการเงินไตรมาสที่ 2
ที่ 1000 / 179 / 2547
23 สิงหาคม 2547
เรื่อง คำอธิบายและการวิเคราะห์ของฝ่ายจัดการ สำหรับผลการดำเนินงานสำหรับไตรมาส
2 สิ้นสุด วันที่ 30 มิถุนายน 2547
เรียน กรรมการและผู้จัดการ
ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
สำเนาเรียน ผู้อำนวยการฝ่ายจดทะเบียนหลักทรัพย์
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)
สิ่งที่ส่งมาด้วย คำอธิบายและการวิเคราะห์ของฝ่ายจัดการ สำหรับผลการดำเนินงาน
สำหรับไตรมาส 2 สิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2547
ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้
สนับสนุนให้บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ มีการจัดทำคำอธิบายและการวิเคราะห์ของฝ่ายจัดการ
ทุกไตรมาส เพื่อให้ผู้ลงทุนสามารถเข้าใจฐานะการเงินและผลการดำเนินงานของบริษัทได้ดียิ่งขึ้น
นอกเหนือจากข้อมูลตัวเลขในงบการเงิน อีกทั้งเพื่อให้ผู้ลงทุนได้มีข้อมูลที่เพียงพอต่อการตัดสินใจ
ลงทุนในหลักทรัพย์ของบริษัท ตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี (GOOD GOVERNANCE)
ในเรื่องการให้ความสำคัญต่อการเปิดเผยข้อมูล นั้น
บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ในฐานะที่เป็นบริษัทจดทะเบียนหนึ่งใน
ตลาดหลักทรัพย์ได้ให้ความสำคัญต่อการดำเนินกิจการอย่างโปร่งใสตามแนวนโยบายบรรษัทภิบาล
จึงได้จัดทำและใคร่ขอนำส่งคำอธิบายและการวิเคราะห์ของฝ่ายจัดการ สำหรับผลการดำเนินงาน
สำหรับไตรมาส 2 สิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2547 ดังรายละเอียดตามสิ่งที่ส่งมาด้วย
จึงเรียนมาเพื่อทราบ
ขอแสดงความนับถือ
(นายปฏิภาณ สุคนธมาน)
รองกรรมการผู้จัดการใหญ่
สำนักแผนกิจการและนักลงทุนสัมพันธ์
โทร. 0 -2335-4583
คำอธิบายและการวิเคราะห์ของฝ่ายจัดการ
ผลการดำเนินงานสำหรับไตรมาส 2 สิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2547
ข้อมูลทั่วไป
บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2528 โดย รัฐบาล
ฯพณฯ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ โดยมุ่งหมายให้ดำเนินการแบบเอกชน และเป็นบริษัทน้ำมันของ
คนไทยที่ดำเนินกิจการสอดคล้องกับประโยชน์ของคนไทยและสังคมไทย
ปัจจุบันบริษัทฯ ประกอบธุรกิจจำหน่ายน้ำมันสำเร็จรูป ทั้งค้าปลีกและค้าส่ง และ
บริหารกิจการโรงกลั่นน้ำมันขนาด 120,000 บาเรลต่อวัน ซึ่งก่อสร้างใหม่ทดแทนหน่วยเดิม
โดยหน่วยกลั่นล่าสุดแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2536 การออกแบบกระบวนการกลั่นเน้นการผลิตได
น้ำมันสะอาด ประหยัดพลังงาน และให้ผลผลิตสูง อีกทั้ง บริษัทฯ มีการขยายเครือข่ายสถานีบริการ
น้ำมันออกไปประมาณ 1,100 แห่ง ทั่วประเทศ โดยเป็นสถานีบริการน้ำมันขนาดใหญ่ประมาณ
600 แห่ง และปั๊มชุมชนขนาดเล็กประมาณ 500 แห่ง
ภาพรวมธุรกิจในไตรมาส 2 ปี 2547
สำหรับไตรมาส 2 ปี 2547 เศรษฐกิจในประเทศและภูมิภาคมีการเจริญเติบโตขึ้น
อย่างต่อเนื่องจากไตรมาส 1 ส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันปรับตัวสูงขึ้น ในขณะที่กำลังการผลิต
อยู่คงที่หรือเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย มีผลทำให้ราคาน้ำมันสำเร็จรูปและค่าการกลั่นปรับตัวอยู่ใน
ระดับสูงอย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกัน ส่วนสภาวะการแข่งขันในประเทศมีแนวโน้มลดลงจากการ
เจริญเติบโตของสภาวะเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีผลโดยตรงต่อปริมาณความต้องการใช้น้ำมัน
ประกอบกับภาครัฐได้ใช้นโยบายตรึงราคาน้ำมัน ส่งผลให้ในตลาดสถานีบริการไม่มีการแข่งขัน
ด้านราคา ดังนั้น จากปัจจัยข้างต้นบริษัทฯ ได้เพิ่มปริมาณการกลั่นและปริมาณจำหน่ายในทุกช่องทาง
และพยายามเพิ่มปริมาณการจำหน่ายเฉพาะในช่องทางที่มีกำไรสูง เช่น การเพิ่มปริมาณการจำหน่าย
ผ่านสถานีบริการภายใต้ตราของบริษัท การเพิ่มปริมาณการจำหน่ายน้ำมันเตาในตลาดอุตสาหกรรม
และการเพิ่มปริมาณการส่งน้ำมันเตาไปเพิ่มมูลค่าที่โรงกลั่นอื่น รายละเอียดผลการดำเนินงาน
เฉพาะบริษัทมีดังนี้
1. คำอธิบายและการวิเคราะห์ผลการดำเนินงานสำหรับไตรมาส 2 ปี 2547 เปรียบเทียบช่วง
เดียวกันปี 2546
1.1 การวิเคราะห์กำไรขาดทุน
ผลการดำเนินงานไตรมาส 2 ปี 2547 บริษัทฯ มีรายได้รวม 18,297 ล้านบาท
มีกำไรก่อนหักดอกเบี้ยและค่าเสื่อมราคา (EBITDA) +1,003 ล้านบาท มีดอกเบี้ยจ่ายสุทธิ
(หักลบดอกเบี้ยรับ) 180 ล้านบาท มีค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย 184 ล้านบาท
ส่งผลให้บริษัทฯ มีผลกำไรสุทธิ 647 ล้านบาท (ช่วงเดียวกันปี 2546 มีผลขาดทุนสุทธิ
913 ล้านบาท) ผลการดำเนินการดังกล่าวมีสาเหตุมาจากปัจจัยดังต่อไปนี้
1) ธุรกิจการกลั่นมี EBITDA จำนวน 859 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลมาจาก
- การปรับตัวเพิ่มขึ้นของค่าการกลั่นรวมมาอยู่ที่ระดับ 3.58 ดอลลาร์ สรอ./บาเรล
เนื่องจากความต้องการใช้น้ำมันได้ปรับตัวสูงขึ้นตามสภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว และ
มีความต้องการใช้น้ำมันเป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีสูงขึ้นเป็นจำนวนมาก
ส่งผลให้ราคาน้ำมันเบนซินและดีเซลปรับตัวขึ้นสูงกว่าการปรับตัวขึ้นของน้ำมันดิบ
ประกอบกับ บริษัทฯ ได้มีการร่วมมือในกิจกรรมเพิ่มรายได้และลดต้นทุนร่วมกับ
บริษัทน้ำมันอื่นอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ บริษัทฯ ได้เพิ่มปริมาณการกลั่นขึ้นไปอยู่ที่
ระดับ 85 พันบาเรล/วัน โดยเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน 13 พันบาเรล/วัน
แต่ลดลงจากไตรมาส 1 ปี 2547 เนื่องจากบริษัทฯ ได้มีการหยุดซ่อมบำรุงหน่วย
กลั่น 2 ขนาด 40 พันบาเรล/วัน เป็นระยะเวลา 25 วัน
อย่างไรก็ตาม ค่าการกลั่นดังกล่าวส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการปรับตัวขึ้นของราคา
น้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูป ซึ่งมีผลทำให้บริษัทฯ มีผลกำไรบางส่วนจากสต๊อกน้ำมัน
ซึ่งหากไม่รวมกำไรจากสต๊อกน้ำมัน ค่าการกลั่นจะอยู่ที่ระดับ 1.83 ดอลลาร์ สรอ./บาเรล
อยู่ในระดับใกล้เคียงกันกับช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งอยู่ที่ระดับ 1.85 ดอลลาร์ สรอ./บาเรล
เนื่องจากในไตรมาส 2 ของปีก่อน ราคาน้ำมันเตาที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างมากตามแรงซื้อ
จากประเทศญี่ปุ่นเพื่อใช้ในการผลิตไฟฟ้าทดแทนโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่หยุดซ่อมแซม
ประกอบกับ ความวิตกในสถานการณ์สงครามระหว่างสหรัฐฯ และอิรักส่งผลให้
ค่าการกลั่นยังอยู่ในระดับสูง
- บริษัทฯ มีกำไรจากสต๊อกน้ำมัน (FX & Price Effects) จำนวน 553 ล้านบาท
เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ที่มีขาดทุนจากสต๊อกน้ำมันจำนวน 770 ล้านบาท
2) ธุรกิจการตลาดมี EBITDA จำนวน 144 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลมาจาก
- ปริมาณการขายน้ำมันสำเร็จรูปปรับเพิ่มขึ้นทุกช่องทางการจำหน่าย เมื่อเทียบกับ
ช่วงเดียวกันปีก่อน โดยปริมาณการขายน้ำมันผ่านตลาดค้าปลีกเพิ่มขึ้นเป็น 55.3
พันบาเรล/ วัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.2 โดยเพิ่มขึ้นในตลาดขายปลีกผ่านสถานีบริการ
ประมาณ 6.4% จากการทำกิจกรรมทางการตลาดอย่างต่อเนื่อง และเพิ่มขึ้นในตลาด
อุตสาหกรรมและขนส่งประมาณ 14.8% จากการใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นของโรงงาน
อุตสาหกรรมตามสภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว และการใช้น้ำมันเครื่องบินเพิ่มขึ้นจาก
สภาวะฟื้นตัวจากผลกระทบของโรค SARS
- ค่าการตลาดน้ำมันสำเร็จรูป (ไม่รวมน้ำมันเครื่องบิน) อยู่ที่ระดับ 0.44 บาท/ลิตร
ใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งอยู่ที่ระดับ 0.40 บาท/ลิตร เป็นผลสืบเนื่องมาจาก
นโยบายการตรึงราคาน้ำมันของภาครัฐ ส่งผลให้ค่าการตลาดคงที่ แต่อย่างไรก็ตาม
เนื่องจากสูตรราคาขายน้ำมันเครื่องบินให้บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) จะใช้
ราคาน้ำมันเครื่องบินเฉลี่ยเดือนก่อนหน้า ในขณะที่ต้นทุนขายที่ธุรกิจการตลาดซื้อจาก
ธุรกิจโรงกลั่นเป็นราคาน้ำมันเครื่องบินในเดือนส่งมอบนั้นๆ ส่งผลให้ในช่วงที่ราคาน้ำมัน
มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น การจำหน่ายน้ำมันเครื่องบินให้บริษัท การบินไทยฯ จะมีค่าการตลาด
ค่อนข้างต่ำ ซึ่งบริษัทฯ ยังคงมีความจำเป็นที่ต้องจำหน่ายอย่างต่อเนื่อง เพื่อรักษา
ส่วนแบ่งการตลาดน้ำมันเครื่องบินดังกล่าว ดังนั้น จากปัจจัยข้างต้นส่งผลให้ค่าการตลาดรวม
ของบริษัทฯ อยู่ในระดับ 0.32 บาท/ ลิตร
1.2 การวิเคราะห์รายได้
ในไตรมาส 2 ปี 2547 บริษัทฯ มีรายได้รวม 18,297 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน
3,327 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 22.2 โดยมีรายละเอียด ดังนี้
1) รายได้จากการขายจำนวน 18,276 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน 3,448 ล้านบาท
หรือร้อยละ 23.3 เนื่องจากยอดขายรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.1 และราคาขายน้ำมันเฉลี่ยเพิ่มขึ้นร้อยละ
14.0 (ราคาน้ำมันเฉลี่ย 11.08 บาท/ลิตร เทียบกับ 9.72 บาท/ลิตร)
1.3 วิเคราะห์ค่าใช้จ่ายรวม
ในไตรมาส 2 ปี 2547 บริษัทฯ มีค่าใช้จ่ายรวม 17,471 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,866
ล้านบาท หรือร้อยละ 12.0 และมีดอกเบี้ยจ่ายจำนวน 182 ล้านบาท ลดลง 93 ล้าน
บาท หรือร้อยละ 33.9
1) ค่าใช้จ่ายรวม 17,471 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,866 ล้านบาท หรือร้อยละ 12.0
เป็นผลมาจาก ต้นทุนขายจำนวน 16,970 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,766 ล้านบาท หรือร้อยละ
11.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน เนื่องจากยอดขายรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.1 และต้นทุน
น้ำมันเฉลี่ยเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.5 (ต้นทุนน้ำมันเฉลี่ย 9.99 บาท/ลิตร เทียบกับ
9.66 บาท/ลิตร) ประกอบกับค่าใช้จ่ายในการผลิตเพิ่มขึ้นประมาณ 19 ล้านบาท
ซึ่งเป็นผลมาจากมีการหยุดซ่อมแซมหน่วยกลั่น 2 ประจำปี
2) ดอกเบี้ยจ่ายจำนวน 183 ล้านบาท ลดลง 93 ล้านบาท หรือร้อยละ 33.9
เป็นผลมาจากการเพิ่มทุน 3,000 ล้านบาทและการทยอย Refinance หุ้นกู้เดิมบางส่วน
ด้วยหุ้นกู้แปลงสภาพจำนวน 4,000 ล้านบาท และเงินกู้ธนาคารกรุงไทยจากการปรับโครงสร้างการเงิน
2. คำอธิบายและการวิเคราะห์ฐานะการเงินสำหรับ ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2547 เปรียบเทียบ
ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2546
2.1 สินทรัพย์
สินทรัพย์รวม ณ สิ้นไตรมาส 2 ปี 2547 เทียบกับ ณ สิ้นปี 2546 มีมูลค่าเพิ่มขึ้น
จำนวน 1,378 ล้านบาท โดยรายการสินทรัพย์ที่เปลี่ยนแปลงมากคือ
1) เงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดจำนวน 975 ล้านบาท ลดลง 2,374 ล้านบาท
เมื่อเทียบกับ ณ สิ้นปี 2546 เนื่องจาก ณ สิ้นธันวาคม 2546 ได้เตรียมเงินสดเพื่อชำระหนี้
ค่าน้ำมันดิบที่ถึงกำหนดชำระในวันที่ 6 มกราคม 2547 จำนวน 46 ล้านดอลลาร์ สรอ. หรือ
1,800 ล้านบาท และอีกส่วนหนึ่งเป็นผลจากที่บริษัทฯ มีวงเงินกู้ระยะสั้นหมุนเวียนจำนวน
4,000 ล้านบาท ทำให้สามารถบริหารเงินสดได้ดีขึ้น
2) ลูกหนี้/ตั๋วเงินรับการค้า มูลค่า 3,759 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 965 ล้านบาท เมื่อเทียบกับ
ณ สิ้นปี 2546เนื่องจากยอดจำหน่ายน้ำมันที่สูงขึ้น ประกอบกับราคาน้ำมันเฉลี่ยที่ปรับตัวสูงขึ้น
3) สินค้าคงเหลือรวมทั้งสิ้นเท่ากับ 7,272 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,876 ล้านบาท เนื่องจาก
ปริมาณสินค้าคงเหลือที่เพิ่มขึ้น 108 ล้านลิตร เพื่อรองรับการเพิ่มปริมาณการกลั่นและจำหน่าย
ประกอบกับราคาเฉลี่ยได้ปรับเพิ่มขึ้น 1.30 บาท/ ลิตร
4) สินทรัพย์หมุนเวียนอื่นๆ จำนวน 756 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 613 ล้านบาท เมื่อเทียบกับ
ณ สิ้นปี 2546 เนื่องจากภาครัฐได้มีการเข้าตรึงราคาขายของน้ำมันสำเร็จรูป ณ สถานีบริการน้ำมัน
ตั้งแต่ต้นเดือนมกราคม 2547 ส่งผลให้บริษัทฯ มีเงินชดเชยกองทุนค้างรับจากกองทุนน้ำมันเพิ่มขึ้น
5) สินทรัพย์ไม่มีตัวตนจำนวน 1,479 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 506 ล้านบาท เมื่อเทียบกับ
ณ สิ้นปี 2546 เนื่องจากบริษัทฯ ได้ทำการต่ออายุสัญญาเช่าใช้ที่ราชพัสดุซึ่งเป็นที่ตั้งโรงกลั่น
และสำนักงานใหญ่ของบริษัทฯ จาก 12 ปี เป็น 30 ปี โดยมีค่าธรรมเนียมการเช่าล่วงหน้า
จำนวน 552 ล้านบาท ซึ่งจะเริ่มทะยอยชำระตั้งแต่ปี 2550 - 2558
2.2 หนี้สิน
หนี้สิน ณ สิ้นไตรมาส 2 ปี 2547 เทียบกับ ณ สิ้นปี 2546 มีมูลค่าลดลง 2,728 ล้านบาท
โดยรายการหนี้สินที่เปลี่ยนแปลงมาก คือ
1) ณ สิ้นไตรมาส 2 ปี 2547 มียอดเจ้าหนี้การค้า จำนวน 4,513 ล้านบาท เมื่อเทียบกับ
ณ สิ้นปี 2546 เพิ่มขึ้น 83 ล้านบาท เนื่องจากราคาน้ำมันดิบได้ปรับตัวสูงขึ้น แต่บริษัทฯ มีการสั่งซื้อ
ที่ลดลงจากการหยุดซ่อมบำรุงหน่วยกลั่น 2 ขนาด 40 พันบาเรลต่อวัน เป็นเวลา 25 วัน
2) เงินกู้ยืมระยะสั้นและเงินกู้ยืมระยะยาวรวมทั้งสิ้นจำนวน 16,365 ล้านบาท ลดลง 2,999
ล้านบาท เมื่อเทียบกับ ณ สิ้นปี 2546 เนื่องจากบริษัทฯ ได้ดำเนินการปรับโครงสร้างทางการเงิน
โดยการออกหุ้นสามัญเพิ่มทุนในรูปของใบแสดงสิทธิในผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากหุ้นสามัญบางจาก
(CSDR) จำนวน 3,000 ล้านบาท
3) บริษัทฯ มีหนี้สินจากสิทธิการเช่าระยะยาวจำนวน 552 ล้านบาท เนื่องจากเมื่อวันที่ 27
กุมภาพันธ์ 2547 กรมธนารักษ์ได้อนุญาตให้บริษัทฯ ผ่อนชำระค่าธรรมเนียมการต่ออายุสัญญาเช่าที่
ราชพัสดุซึ่งเป็นที่ตั้งโรงกลั่นและสำนักงานใหญ่ของบริษัทฯ โดยผ่อนชำระค่าธรรมเนียมดังกล่าวเป็นรายปี
เริ่มตั้งแต่ปี 2550 - 2558 ซึ่งได้บันทึกบัญชีเป็นหนี้สินจากสิทธิการเช่าระยะยาว
2.3 ส่วนของผู้ถือหุ้น
1) ส่วนของผู้ถือหุ้น ณ สิ้นไตรมาส 2 ปี 2547 จำนวน 7,186 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4,105
ล้านบาท จาก ณ สิ้นปี 2546 เนื่องจากบริษัทฯ มีการออกหุ้นสามัญเพิ่มทุนในรูปของใบแสดงสิทธ
ในผลประโยชน์ที่เกิดจากหุ้นสามัญบางจากจำนวน 3,000 ล้านบาท และมีผลกำไรสุทธิของครึ่งปีแรก
จำนวน 1,294 ล้านบาท
2) ในงวดบัญชีไตรมาส 2 ปี 2547 บริษัทฯ ได้ดำเนินการล้างขาดทุนสะสมโดยการโอนส่วน
เกินทุนจากการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนมูลค่าสูงกว่าจำนวน 2,389,126,110 บาท เพื่อมาชดเชย
ผลขาดทุนสะสม ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2546 จำนวน 2,389,126,110 บาท ให้หมดไป และคงเหลือ
ส่วนเกินมูลค่าหุ้นจำนวน 302,992,006 บาท
3. คำอธิบายและการวิเคราะห์งบกระแสเงินสด สำหรับครึ่งปีแรกปี 2547 และ 2546
ในครึ่งปีแรกปี 2547 บริษัทฯ มีเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดจำนวน 975 ล้านบาท
ลดลง 2,374 ล้านบาท เป็นผลมาจากการที่บริษัทฯ ได้มีการปรับโครงสร้างทางการเงิน
โดยจัดหาวงเงินกู้เพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน และใช้ชำระหนี้ที่ครบกำหนดชำระ ซึ่งทำให้บริษัทฯ
ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องถือเงินสดเป็นจำนวนมากเช่นในอดีต โดยเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสด
ณ สิ้นปี 2546 จำนวน 3,348 ล้านบาท ถูกนำไปใช้ในกิจกรรมดังต่อไปนี้
1) เงินสดสุทธิใช้ไปในกิจกรรมดำเนินงานจำนวน 2,062 ล้านบาท เป็นผลมาจาก บริษัทฯ
มีกำไรจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงในสินทรัพย์และหนี้สินดำเนินงาน 1,679 ล้านบาท
แต่มีสินทรัพย์และหนี้สินดำเนินงานเพิ่มขึ้นสุทธิ 3,741 ล้านบาท เนื่องจากระดับราคาน้ำมันที่ยังคง
อยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ปริมาณลูกหนี้การค้าและน้ำมันคงคลังเพิ่มขึ้น
2) เงินสดสุทธิที่ใช้ไปในกิจกรรมลงทุนจำนวน 237 ล้านบาท เป็นผลมาจากการลงทุนเพิ่ม
ในสินทรัพย์ถาวร-อุปกรณ์ และสินทรัพย์ไม่หมุนเวียนอื่นๆ
3) เงินสดสุทธิใช้ไปในกิจกรรมจัดหาเงินจำนวน 75 ล้านบาท เป็นผลมาการ Refinance
เงินกู้ที่ครบกำหนดชำระและเงินกู้ที่ขอไถ่ถอนก่อนกำหนดโดยการเบิกเงินกู้ระยะยาวจากธนาคารกรุงไทย
และเงินทุนใหม่ที่ได้จากการเสนอขายดีอาร์หุ้นสามัญบางจากตามแผนการปรับโครงสร้างทางการเงิน
และการใช้เงินสดคงเหลือจากการดำเนินงานในปี 2546 และไตรมาส 1 ปี 2547
4. ปัจจัยและอิทธิผลหลักที่อาจมีผลต่อการดำเนินงานหรือฐานะการเงินในอนาคต
สำหรับธุรกิจน้ำมันนั้น ปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อความต้องการใช้น้ำมัน คืออัตราการเติบ
โตของเศรษฐกิจ ซึ่งในปี 2547 เศรษฐกิจในภูมิภาคมีทิศทางปรับตัวสูงขึ้นจากปีที่ผ่านมา โดย
เฉพาะอย่างยิ่งประเทศจีน ที่มีการเติบโตในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับ เศรษฐกิจไทยเอง
ก็คาดว่าจะมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลให้อัตราการใช้น้ำมันมีมากขึ้นเช่นเดียวกัน โดย
บริษัทฯ คาดว่าความต้องการใช้น้ำมันในภูมิภาคและในประเทศจะเข้าสู่ภาวะสมดุลกับกำลังการ
ผลิตในช่วงปี 2548 -2549
แต่อย่างไรก็ตาม ระดับราคาน้ำมันก็ยังมีผลกระทบสำคัญต่อผลการดำเนินงานของบริษัท
ฯ เนื่องจากราคาน้ำมันได้ปรับตัวสูงขึ้นตั้งแต่ช่วงปลายปี 2546 เป็นต้นมา ซึ่งอาจมีความเป็นไปได้
ว่าราคาน้ำมันอาจปรับตัวลดลงในช่วงปลายปี 2547 โดยการปรับตัวลดลงของราคาน้ำมันดังกล่า
อาจส่งผลให้บริษัทฯ ได้รับผลกระทบจากมูลค่า สต๊อกน้ำมันที่ลดลง แต่บริษัทฯ ก็มีส่วนงานที่คอย
ติดตามและบริหารความเสี่ยงดังกล่าวอย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ราคาน้ำมันเตาที่ปรับตัวสูงขึ้นแต่ไม่
มากเท่ากับราคาน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปชนิดอื่นๆ ส่งผลให้ค่าการกลั่นของบริษัทฯ ถูกจำกัดไว้
ในระดับหนึ่ง แต่อย่างไรก็ตาม จากการที่บริษัทฯ ได้ดำเนินการส่งน้ำมันเตาของบริษัทฯ ไปเพิ่มมูล
ค่าที่โรงกลั่นอื่นก็สามารถลดผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าวได้บางส่วน ซึ่งบริษัทฯ มีความจำเป็น
ต้องจัดหาแนวทางการลดสัดส่วนการผลิตน้ำมันเตาในระยะยาว เพื่อเพิ่มค่าการกลั่นให้อยู่ในระดับที่
ทัดเทียมกับอุตสาหกรรม
จากการที่บริษัทฯ มีแผนจะนำน้ำมันดิบในประเทศจากแหล่งในอ่าวไทยมากลั่น ซึ่งน้ำมันดิบดัง
กล่าวมีผลตอบแทนที่ดีกว่าน้ำมันดิบนำเข้าประมาณ 2 ดอลลาร์ สรอ./ บาเรล เนื่องจากค่าขน
ส่งที่ต่ำกว่า ประกอบกับมีส่วนลดราคาเพิ่มเติมจากผู้ประกอบการ แต่อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ อยู่
ระหว่างดำเนินการติดตั้งหน่วยกำจัดปรอท เพื่อให้สามารถกลั่นน้ำมันดิบดังกล่าวเพิ่มขึ้นจำนวน
มากได้ คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จในช่วงสิ้นปี 2547 และสามารถกลั่นน้ำมันดิบดังกล่าวเพิ่ม
ขึ้นในช่วงต้นปี 2548 เป็นต้นไป