สรุปมติการประชุมคณะรัฐมนตรีในส่วนที่เกี่ยวข้องบางจากฯ

ที่ 1600 / 118 / 2546 9 กรกฎาคม 2546 เรื่อง สรุปมติการประชุมคณะรัฐมนตรีในส่วนที่เกี่ยวข้องกับบริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) เรียน กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ตามที่คณะกรรมการกำกับนโยบายด้านรัฐวิสาหกิจ (กนร.) ได้นำเรื่องการแก้ไขปัญหาการ ดำเนินธุรกิจของ บริษัท บางจากฯ (มหาชน) เข้าเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาเห็นชอบในแนวทาง การปรับโครงสร้างธุรกิจและโครงสร้างการเงิน เมื่อวันอังคารที่ 8 กรกฎาคม 2546 นั้น บัดนี้ การประชุมคณะรัฐมนตรีได้ดำเนินการเรียบร้อยแล้ว โดยที่ประชุมมีมติรับทราบการตรวจสอบ สถานะกิจการ (Corporate Due Diligence) และผลการศึกษาของบริษัทที่ปรึกษาในการปรับโครงสร้าง ทางธุรกิจและการเงิน และมีมติเห็นชอบแนวทางการปรับโครงสร้างทางธุรกิจและการเงิน และการขอความ สนับสนุนจากภาครัฐตามที่คณะกรรมการกำกับนโยบายด้านรัฐวิสาหกิจ (กนร.) ได้นำเสนอ โดยมอบหมายให้ บริษัท บางจากฯ ดำเนินการตามข้อเสนอการปรับโครงสร้างทางการเงินให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือน และ ให้กระทรวงการคลังรับค้ำประกันการลงทุนของเงินต้น (Capital Protected) หรือทำการอื่นที่เป็นการ ประกันต้นเงินของหน่วยลงทุนที่ออกโดยกองทุน (Mutual Fund) หรือ SPV ในกรณีที่จำเป็น โดยรองนายกรัฐมนตรี (นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์) ประธานกรรมการกำกับนโยบายด้าน รัฐวิสาหกิจรายงานว่า 1. คณะอนุกรรมการฯ และบริษัท บางจากฯ ได้ว่าจ้างบริษัท เทิร์น อะราวด์ จำกัด เป็นที่ ปรึกษาในการปรับโครงสร้างทางธุรกิจและการเงิน และการตรวจสอบสถานะกิจการ ซึ่งบริษัทที่ปรึกษา ได้นำเสนอผลการศึกษาต่อ กนร. ในคราวประชุม ครั้งที่ 2/2546 เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2546 สรุปได้ดังนี้ 1.1 ผลการตรวจสอบข้อมูลทางบัญชี (Accounting Due Diligence) ของบริษัท บางจากฯ พบว่าเป็นไปตามมาตรฐานและหลักการบัญชีรับรองทั่วไป โดยในระหว่าง ปี 2541 - 2545 มีรายได้ก่อนดอกเบี้ยและค่าเสื่อมราคา (EBITDA) เฉลี่ย ประมาณ 1,389 ล้านบาท และในระหว่างปี 2546 - 2550 มี EBITDA เฉลี่ยประมาณ 1,887 ล้านบาท 1.2 บริษัท บางจากฯ จะสามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ในระยะยาวหากมีการปรับ โครงสร้างทางธุรกิจและการเงิน และภาครัฐให้การสนับสนุนตามแนวทางดังต่อไปนี้ 1) การปรับโครงสร้างธุรกิจ ควรจัดทำงบการเงินแยกระหว่างธุรกิจโรงกลั่นและ ธุรกิจตลาดออกจากกันอย่างชัดเจน เพื่อความสะดวกในการติดตามผลการ ดำเนินงานของแต่ละธุรกิจ และควรดำเนินการแยกธุรกิจโรงกลั่น และธุรกิจ ตลาดให้เป็นนิติบุคคลที่แตกต่างกันต่อไปภายในระยะเวลา 2 - 3 ปี โดยให้ธุรกิจตลาดเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ที่มีธุรกิจโรงกลั่น เป็นบริษัทลูก ประกอบกับควรควบคุมนโยบายการบริหารสถานีบริการน้ำมัน ที่อยู่ภายใต้การดำเนินงานของบริษัท บางจากกรีนเนท จำกัด ให้สอดคล้อง กับนโยบายของบริษัท บางจากฯ รวมทั้งทำการ Consolidate งบการเงิน ของบริษัท บางจากกรีนเนทฯ เข้าในรายงานทางการเงินของบริษัท บางจากฯ รวมถึงควรจำหน่ายทรัพย์สินที่ไม่ใช้ในการดำเนินงาน (Non - core assets) เพื่อเป็นการลดภาระหนี้สิน และการสร้างพันธมิตรทางธุรกิจร่วมกันระหว่าง บริษัท บางจากฯ บริษัทไทยออยล์ จำกัด และบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) 2) การปรับโครงสร้างทางการเงิน บริษัท บางจากฯ น่าจะสามารถหาวงเงินกู้จาก ธนาคารพาณิชย์จำนวน 12,500 - 14,500 ล้านบาท ได้จากการประมาณการ รายได้ของบริษัทฯ การประเมินมูลค่าทรัพย์สิน และการยืดอายุสัญญาการเช่าที่ดิน ที่เป็นที่ตั้งโรงกลั่น ซึงจะเป็นการปรับโครงสร้างการชำระหนี้เงินกู้ให้สอดคล้อง กับกระแสเงินสดของบริษัทฯ และไม่ทำให้ภาระการค้ำประกันของกระทรวงการคลัง เพิ่มขึ้น สำหรับวงเงินที่ขาดอยู่ประมาณ 5,000 - 7,000 ล้านบาท จำเป็นต้อง เพิ่มทุน ให้จัดตั้งกองทุน (Mutual Fund) หรือ Special Purpose Vehicle (SPV) เพื่อลงทุนในหุ้นกู้แปลงสภาพ (Convertible Bond) จำนวน 4,000 ล้านบาท และลงทุนในหุ้นสามัญของบริษัท บางจากฯ จำนวน 3,000 ล้านบาท โดยมีเงื่อนไขให้กระทรวงการคลังรับประกันการลงทุนของต้นเงิน (Capital Protected) ของกองทุน SPV ดังกล่าว โดยวิธีการทั้งหมดจะต้องดำเนินไป พร้อมกัน ซึ่งจะใช้ระยะเวลาประมาณ 6 เดือน 3) การสนับสนุนเพิ่มเติมจากภาครัฐ เพื่อให้การปฏิบัติตามแผนการปรับโครงสร้าง ทางธุรกิจและการเงินบรรลุเป้าหมาย จำเป็นต้องขอความช่วยเหลือจากทาง ภาครัฐเพิ่มเติมในบางเรื่อง เช่น การขอยืดอายุสัญญาเช่าใช้ที่ดินบริเวณ โรงกลั่นน้ำมันบางจาก จากกรมธนารักษ์ จาก 12 ปี เป็น 30 ปี เพื่อเป็น หลักประกันแก่เจ้าหนี้ การขอผ่อนผันการทำ Tender Offer จากการ เพิ่มทุนตามกฎของคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ การ ขอความร่วมมือกับบริษัท ไทยออยล์จำกัด และบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ในการจัดทำข้อตกลงทางธุรกิจกับบริษัท บางจากฯ อย่างเป็นทางการ การส่งน้ำมันดิบเพชรให้บริษัท บางจากฯ กลั่นเพิ่ม เป็นต้น 2. กนร. พิจารณาแล้วเห็นว่า บริษัท บางจากฯ สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้หากมีการ ปรับโครงสร้างทางธุรกิจและการเงิน และได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะทำให้เกิด ความมั่นใจได้ว่า บริษัท บางจากฯ สามารถดำเนินการต่อไปได้โดยมี EBITDA เป็นบวกในอนาคต ประกอบกับการดำเนินการตามข้อเสนอของคณะอนุกรรมการฯ ดังกล่าว ไม่ทำให้ภาระของรัฐเพิ่มขึ้น จากที่มีอยู่ในปัจจุบัน (กระทรวงการคลังค้ำประกันเงินกู้บริษัท บางจากฯ อยู่จำนวนประมาณ 8,100 ล้านบาท) จึงมีมติเห็นชอบในหลักการแนวทางการแก้ปัญหาของบริษัท บางจากฯ ตามข้อเสนอของ บริษัทที่ปรึกษา จึงเรียนมาเพื่อโปรดทราบ ขอแสดงความนับถือ (นายเกียรติชาย ไมตรีวงษ์) ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักแผนกิจการ สำนักแผนกิจการ โทร. 0-2335-4583