คำอธิบายและการวิเคราะห์ของฝ่ายจัดการ-31 มีนาคม 2549

ที่ 1000/144/2549 19 พฤษภาคม 2549 เรื่อง คำอธิบายและการวิเคราะห์ของฝ่ายจัดการ สำหรับผลการดำเนินงานสำหรับไตรมาส 1 สิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2549 เรียน กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สิ่งที่ส่งมาด้วย คำอธิบายและการวิเคราะห์ของฝ่ายจัดการ สำหรับผลการดำเนินงานสำหรับไตรมาส 1 สิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2549 ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้สนับสนุนให้บริษัทจดทะเบียน ในตลาดหลักทรัพย์ มีการจัดทำคำอธิบายและการวิเคราะห์ของฝ่ายจัดการทุกไตรมาส เพื่อให้ผู้ลงทุนสามารถ เข้าใจฐานะการเงินและผลการดำเนินงานของบริษัทได้ดียิ่งขึ้นนอกเหนือจากข้อมูลตัวเลขในงบการเงิน อีกทั้งเพื่อให้ผู้ลงทุนได้มีข้อมูลที่เพียงพอต่อการตัดสินใจลงทุนในหลักทรัพย์ของบริษัท ตามหลักการกำกับดูแล กิจการที่ดี (GOOD GOVERNANCE) ในเรื่องการให้ความสำคัญต่อการเปิดเผยข้อมูล นั้น บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ในฐานะที่เป็นบริษัทจดทะเบียนหนึ่งในตลาดหลักทรัพย์ได้ให้ ความสำคัญต่อการดำเนินกิจการอย่างโปร่งใสตามแนวนโยบายบรรษัทภิบาล จึงได้จัดทำและใคร่ขอนำส่ง คำอธิบายและการวิเคราะห์ของฝ่ายจัดการ สำหรับผลการดำเนินงานสำหรับไตรมาส 1 สิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2549 ดังรายละเอียดตามสิ่งที่ส่งมาด้วย จึงเรียนมาเพื่อทราบ ขอแสดงความนับถือ -ลงนามแล้ว- (นายปฏิภาณ สุคนธมาน) รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานด้านบัญชีและการเงิน สำนักแผนกิจการและนักลงทุนสัมพันธ์ โทร 0 -2335-4583 สำเนาเรียน ผู้อำนวยการฝ่ายจดทะเบียนหลักทรัพย์ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) คำอธิบายและการวิเคราะห์ของฝ่ายจัดการ ผลการดำเนินงานสำหรับไตรมาส 1 สิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2549 ข้อมูลทั่วไป บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2528 โดย รัฐบาล ฯพณฯ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ โดยมุ่งหมายให้ดำเนินการแบบเอกชน และเป็นบริษัทน้ำมันของคนไทยที่ดำเนินกิจการสอดคล้อง กับประโยชน์ของคนไทยและสังคมไทย ปัจจุบันบริษัทฯ ประกอบธุรกิจจำหน่ายน้ำมันสำเร็จรูป ทั้งค้าปลีกและค้าส่ง และบริหารกิจการโรงกลั่นน้ำมัน ขนาด 120,000 บาเรลต่อวัน ซึ่งก่อสร้างใหม่ทดแทนหน่วยเดิม โดยหน่วยกลั่นล่าสุดแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2536 การออกแบบกระบวนการกลั่นเน้นการผลิตได้น้ำมันสะอาด ประหยัดพลังงาน และให้ผลผลิตสูง อีกทั้ง บริษัทฯ มีการขยายเครือข่ายสถานีบริการน้ำมันออกไปประมาณ 1,100 แห่ง ทั่วประเทศ โดยเป็น สถานีบริการน้ำมันขนาดใหญ่ประมาณ 600 แห่ง และปั๊มชุมชนขนาดเล็กประมาณ 500 แห่ง ภาพรวมธุรกิจไตรมาส 1 ปี 2549 สำหรับไตรมาส 1 ปี 2549 บริษัทฯ ดำเนินกิจการภายใต้การปรับขึ้นลงของราคาน้ำมันในตลาดโลกที่มี การแกว่งตัวผันผวนสูง อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากความวิตกกังวลจากเหตุการณ์ความไม่สงบในประเทศ แถบตะวันออกกลาง ได้แก่ และอิหร่าน ไนจีเรีย ซึ่งเป็นประเทศผู้ผลิตน้ำมันดิบรายใหญ่ของโลกอันดับ 4 และอันดับ 8 ตามลำดับ ซึ่งยังไม่มีทีท่าจะคลี่คลายในเร็ววันนี้ ประกอบกับการคาดการณ์ความต้องการใช้ น้ำมันดิบโลกในปีนี้จะยังคงปรับเพิ่มขึ้นจากปีก่อน ส่งผลให้ราคาน้ำมันเบนซินและดีเซลในตลาดโลกและ ตลาดสิงคโปร์ยังคงปรับตัวสูงขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันเตาได้ปรับตัวขึ้นในอัตราที่น้อยกว่าราคา น้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปชนิดอื่น ส่งผลให้โรงกลั่นที่ให้ผลผลิตน้ำมันเตาค่อนข้างมากมีข้อจำกัดในการใช้ กำลังการผลิต สำหรับสถานการณ์ราคาน้ำมันในประเทศ มีการปรับขึ้นในลักษณะแกว่งตัวตามราคา น้ำมันสำเร็จรูปที่สิงคโปร์ ซึ่งไม่รุนแรงดังเช่นปี 2548 ที่ผ่านมา จึงทำให้กลไกการปรับราคาสามารถทำได้ อย่างสอดคล้องกับต้นทุนที่เกิดขึ้น ส่งผลให้ค่าการตลาดในไตรมาส 1 นี้ อยู่ในระดับที่น่าพอใจ ส่วนความ ต้องการใช้น้ำมันในอุตสาหกรรมโดยรวมลดลง ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่าง ต่อเนื่อง ทำให้ผู้บริโภคลดการใช้น้ำมันลงโดยเฉพาะในกลุ่มผู้ใช้น้ำมันเบนซิน 1. คำอธิบายและวิเคราะห์ผลการดำเนินงานสำหรับไตรมาส 1 ปี 2549 เปรียบเทียบไตรมาส 1 ปี 2548 1.1 การวิเคราะห์กำไรขาดทุน 1) ผลการดำเนินงานไตรมาส 1 ปี 2549 บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิรวมจำนวน 653 ล้านบาท ประกอบด้วยผลกำไรของบริษัท บางจากฯ จำนวน 657 ล้านบาท และผลขาดทุนของบริษัท บางจาก กรีนเนท 13 ล้านบาท แต่หักรายการระหว่างกันจำนวน 9 ล้านบาท 2) ผลการดำเนินงานบริษัท บางจากฯ มี EBITDA 1,319 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนที่อยู่ที่ 750 ล้านบาท อยู่ 569 ล้านบาท เป็นผลมาจากปัจจัยหลักดังต่อไปนี้ * EBITDA จากธุรกิจโรงกลั่น 1,141 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนที่อยู่ที่ระดับ 876 ล้านบาท เนื่องจากในไตรมาส 1 ปี 2549 บริษัทฯ มีค่าการกลั่น (ไม่รวมกำไรจากสต๊อกน้ำมัน) 3.31 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาเรล สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนที่อยู่ที่ระดับ 1.89 ดอลลาร์ สรอ.ต่อบาเรล โดยบริษัทได้ดำเนินการ เลือกประเภทของน้ำมันดิบเข้ากลั่นอย่างระมัดระวัง โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด และสอดคล้อง กับสภาพความต้องการของตลาด อีกทั้งปริษัทยังมีกำไรจากสัญญาซื้อขายน้ำมันดิบและผลิตภัณฑ์น้ำมันล่วงหน้า ที่บริษัทฯได้ทำประกันความเสี่ยงเพื่อป้องกันความผันผวนของราคาน้ำมันไว้ เนื่องจากราคาน้ำมันดิบและน้ำมัน สำเร็จรูปในตลาดโลกมีการปรับตัวผันผวนสูง จากสถานการณ์ความตึงเครียดของประเทศผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ ของโลก ได้แก่ ปัญหาทางการเมืองการปกครองภายในของประเทศไนจีเรีย และปัญหาระหว่างอิหร่าน กับชาติตะวันตกเกี่ยวกับการทดลองพลังงานนิวเคลียร์ นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังมีกำไรจากสต๊อกน้ำมันจำนวน 462 ล้านบาท ต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนที่อยู่ที่ระดับ 678 ล้านบาท เนื่องจากไตรมาส 1 ปี 2548 มีการปรับขึ้นของราคาน้ำมันตลาดโลกในอัตราที่สูงกว่าปี 2549 แต่อย่างไรก็ตามราคาน้ำมันในปีนี้ยังคงมี แนวโน้ม แกว่งตัวในลักษณะขาขึ้น ดังนั้นในไตรมาสนี้ บริษัทฯ มีค่าการกลั่นรวมอยู่ที่ระดับ 5.12 ดอลลาร์ สรอ.ต่อบาเรล โดยการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ระดับ 66 พันบาเรลต่อวัน ใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่อยู่ที่ระดับ 69 พันบาเรลต่อวัน * EBITDA จากธุรกิจการตลาด 178 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนที่อยู่ที่ระดับ -126 ล้านบาท เนื่องจากในไตรมาส 1 ปี 2549 บริษัทฯ มีค่าการตลาด(ไม่รวมน้ำมันหล่อลื่น) อยู่ที่ระดับ 44.4 สตางค์ ต่อลิตร สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนที่อยู่ที่ระดับ 22.7 สตางค์ต่อลิตร ทั้งนี้เป็นผลมาจากในช่วงไตรมาสแรก ของปีก่อนราคาน้ำมันในตลาดโลกมีอัตราการปรับขึ้นอย่างรวดเร็วต่อเนื่อง แต่บริษัทฯ ไม่สามารถปรับราคา ขายปลีกได้ทันกับต้นทุนที่ปรับตัวสูงขึ้น สำหรับในปี 2549 นี้ราคาน้ำมันสำเร็จรูปในตลาดสิงคโปร์มีการปรับขึ้น ในลักษณะแกว่งตัว ทำให้กลไกการปรับราคาสามารถทำได้อย่างสอดคล้องกับต้นทุนที่เกิดขึ้น ส่งผลให้ในไตรมาส นี้บริษัทฯ จึงมีค่าการตลาดที่สูงขึ้น สำหรับปริมาณการจำหน่ายในตลาดบางจากเพิ่มขึ้นเป็น 54.0 พันบาเรลต่อวัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน ที่อยู่ที่ระดับ 58.6 พันบาเรลต่อวัน 1.2 การวิเคราะห์รายได้ รายได้รวมของบริษัทฯ และบริษัทย่อยจำนวน 26,705 ล้านบาท ประกอบด้วย รายได้ของบริษัท บางจากฯ จำนวน 26,510 ล้านบาท และรายได้ของบริษัท บางจากกรีนเนท จำนวน 3,033 ล้านบาท ในรายได้ ดังกล่าวเป็นรายการระหว่างกันจำนวน 2,838 ล้านบาท โดยรายได้ของบริษัท บางจากฯ ที่มีการเปลี่ยน แปลงหลักคือ 1) รายได้จากการขายจำนวน 25,860 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 8,049 ล้านบาท เนื่องจากราคาขายน้ำมันเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 51% (ราคาน้ำมันเฉลี่ย 18.88 บาท/ลิตร เทียบกับ 12.51 บาท/ลิตร) แต่ปริมาณการจำหน่ายน้ำมันสำเร็จรูปและน้ำมันดิบรวมลดลง 3% 2) กำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนจำนวน 77 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 71 ล้านบาท โดยเป็น กำไรอัตราแลกเปลี่ยนจากเจ้าหนี้การค้า 126 ล้านบาท และเป็นขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยนจากอื่นๆ 49 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลมาจากการแข็งค่าขึ้นของเงินบาทจาก 41.2 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. ณ สิ้นปี 2548 เป็นเฉลี่ย 39.4 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. ในไตรมาส 1 ปี 2549 3) บริษัทฯ มีกำไรจากสัญญาซื้อขายน้ำมันดิบและผลิตภัณฑ์น้ำมันล่วงหน้าเพิ่มขึ้น 534 ล้านบาทจากช่วงเดียวกัน ของปีก่อนที่อยู่ที่ระดับ 7 ล้านบาท เป็นผลมาจากบริษัทฯ มีนโยบายการทำประกันความเสี่ยงจากความผันผวน ของราคาน้ำมัน และได้มีการเข้าทำสัญญาซื้อขายน้ำมันล่วงหน้าเป็นระยะๆ ดังนั้นแม้ว่าในช่วงที่ผ่านมาระดับ ราคาน้ำมัน จะปรับตัวผันผวน แต่จากการที่บริษัทฯได้ใช้เครื่องมือดังกล่าวเพื่อบริหารความเสี่ยง จึงส่งผลให้ ในไตรมาสนี้บริษัทฯมีกำไรจากการเข้าทำสัญญาซื้อขายน้ำมันดิบและผลิตภัณฑ์น้ำมันล่วงหน้าจำนวน 541 ล้านบาท 1.3 การวิเคราะห์ค่าใช้จ่าย ค่าใช้จ่ายรวมของบริษัทฯ และบริษัทย่อยจำนวน 26,052 ล้านบาทประกอบด้วย ค่าใช้จ่ายของบริษัท บางจากฯ จำนวน 25,852 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายของบริษัท บางจากกรีนเนท จำนวน 3,046 ล้านบาท โดยค่าใช้จ่ายดังกล่าวเป็นรายการระหว่างกันจำนวน 2,846 ล้านบาท โดยค่าใช้จ่ายของบริษัท บางจากฯ ที่มีการเปลี่ยนแปลงหลักคือ 1) ต้นทุนขายจำนวน 24,984 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 8,160 ล้านบาท เป็นผลมาจาก ราคาน้ำมันดิบได้ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยน้ำมันดิบดูไบปรับตัวสูงขึ้นเฉลี่ยประมาณ 17 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาเรล ในไตรมาส 1 ปี 2549 เมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปีที่แล้ว แต่ปริมาณการจำหน่ายลดลง จากระดับ 98.5 พันบาเรลต่อวันเป็น 95.4 พันบาเรลต่อวัน 2) ในไตรมาส 1 ปี 2549 มีการบันทึกขาดทุนจากเงินลงทุนตามวิธีส่วนได้เสียจำนวน 14 ล้านบาท อันเป็นผล มาจากการรับรู้ผลขาดทุนจากบริษัทย่อยคือบริษัท บางจากกรีนเนท เนื่องจากบริษัทฯ บันทึกเงินลงทุนใน บริษัทย่อยโดยวิธีส่วนได้เสีย (Full Equity Method) ดังนั้นเมื่อรวมผลขาดทุนของบริษัท บางจากกรีนเนท และการปรับปรุงกำไรที่ยังไม่เกิดจริงในสินค้าคงเหลือที่อยู่ที่บริษัท บางจากกรีนเนท ทำให้บริษัทฯ ต้องรับรู้ ผลขาดทุนจากเงินลงทุนตามวิธีส่วนได้เสียทั้งสิ้นจำนวน 18 ล้านบาท แต่บริษัทฯ ไม่สามารถรับรู้ส่วนแบ่ง ขาดทุนที่เกินกว่ายอดเงินลงทุนซึ่งบันทึกโดยวิธีส่วนได้เสียที่มีอยู่จำนวน 14 ล้านบาทในงบเฉพาะบริษัทจึงส่งผลให้ งบกำไรขาดทุนในส่วนของงบรวมต่ำกว่างบเฉพาะบริษัทจำนวน 4 ล้านบาท 3) บริษัทฯ มีภาษีเงินได้จำนวน 241 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน 245 ล้านบาท เป็นผลจากใน ไตรมาส 1 ปี 2548 บริษัทยังมีผลขาดทุนสะสมทางภาษี (Tax Credit) อยู่ จึงยังไม่มีภาษีเงินได้ นิติบุคคลที่จะต้องจ่าย ซึ่งผลขาดทุนสะสมดังกล่าวได้หมดไปในปี 2548 ไตรมาสนี้จึงตั้งค้างจ่ายภาษีเงินได้ นิติบุคคลในอัตราร้อยละ 25 และ 30 ตามประมวลรัษฎากร 2. คำอธิบายและการวิเคราะห์ฐานะการเงินสำหรับ ณ วันที่ 31 มีนาคม 2549 เปรียบเทียบ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2548 2.1 สินทรัพย์ 1) สินทรัพย์รวม ณ สิ้นไตรมาส 1 ปี 2549 มีจำนวน 33,396 ล้านบาท ประกอบด้วยสินทรัพย์ของบริษัท จำนวน 33,303 ล้านบาท และบริษัท บางจากกรีนเนท จำนวน 522 ล้านบาท ในสินทรัพย์ดังกล่าวมีสินทรัพย์ ระหว่างกันซึ่งส่วนใหญ่เป็นบัญชีลูกหนี้(บริษัท บางจากกรีนเนท) จำนวน 422 ล้านบาท ซึ่งบริษัทฯ ให้เครดิต ประมาณ 15 วัน 2) สินทรัพย์รวมของบริษัท บางจากฯ ณ สิ้นไตรมาส 1 ปี 2549 เทียบกับ ณ สิ้นปี 2548 มีมูลค่าลดลง จำนวน 861 ล้านบาท ประกอบด้วยสินทรัพย์หลักที่เปลี่ยนแปลงคือ * เงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดจำนวน 3,097 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,536 ล้านบาท เมื่อเทียบกับ ณ สิ้นปี 2548 (รายละเอียดดูคำอธิบายเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดจากคำอธิบายและการวิเคราะห์งบกระแส เงินสดในข้อ 3) * ลูกหนี้และตั๋วเงินรับการค้าจำนวน 3,626 ลดลง 373 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับ ณ สิ้นปี 2548 เนื่องจากบริษัทฯลดการขายน้ำมันเพื่อไปเพิ่มมูลค่าที่โรงกลั่นอื่นลง * สินค้าคงเหลือรวมทั้งสิ้นเท่ากับ 9,485 ล้านบาท ลดลง 1,186 ล้านบาท เนื่องจากปริมาณสินค้าคงเหลือ ณ สิ้นไตรมาส 1 ปี 2549 มีปริมาณสินค้าคงเหลือที่ลดลง 99 ล้านลิตร (ประมาณ 0.6 ล้านบาเรล) โดยที่ ราคาเฉลี่ยปรับตัวสูงขึ้น 0.6 บาท/ ลิตร * เงินชดเชยกองทุนน้ำมันค้างรับจำนวนเงิน 154 ล้านบาทเทียบกับ ณ สิ้นปี 2548 ที่อยู่ที่ระดับ 433 ล้านบาท ลดลงเนื่องจากในไตรมาสนี้บริษัทได้รับเงินชดเชยกองทุนน้ำมันคืนจากกรมศุลกากรจำนวน 246 ล้านบาท สำหรับการนำเข้าน้ำมันดีเซลเมื่อต้นปี 2548 (ในช่วงเวลาดังกล่าวมีมาตรการชดเชยราคาน้ำมันดีเซลผ่าน กองทุนน้ำมัน) 2.2 หนี้สิน 1) หนี้สินรวม ณ สิ้นไตรมาส 1 ปี 2549 จำนวน 19,927 ล้านบาท ประกอบด้วยหนี้สินของบริษัทจำนวน 19,830 ล้านบาท และของบริษัทบางจากกรีนเนท จำนวน 520 ล้านบาท ซึ่งเป็นหนี้ระหว่างกันอยู่จำนวน 423 ล้านบาท 2) หนี้สินรวมของบริษัท บางจากฯ ณ สิ้นไตรมาส 1 ปี 2549 เทียบกับ ณ สิ้นปี 2548 มีมูลค่าลดลง 1,464 ล้านบาท ประกอบด้วยหนี้สินหลักที่เปลี่ยนแปลงคือ * เงินกู้รวม ณ สิ้นไตรมาส 1 ปี 2549 ลดลง 564 ล้านบาท เมื่อเทียบกับ ณ สิ้นปี 2548 เป็นผลจากการ ชำระคืนเงินกู้ให้แก่ธนาคารกรุงไทย ซึ่งเป็นประเภทเงินกู้ยืมระยะสั้นจำนวน 500 ล้านบาท และประเภท เงินกู้ระยะยาวอีกจำนวน 64 ล้านบาท * ยอดเจ้าหนี้การค้า จำนวน 4,671 ล้านบาท เมื่อเทียบกับ ณ สิ้นปี 2548 ลดลง 807 ล้านบาท เนื่องจาก การลดปริมาณการซื้อลงในช่วงเดือนมีนาคม ให้สอดคล้องตามแผนการผลิตที่ลดลงในเดือนเมษายน 2.3 ส่วนของผู้ถือหุ้น 1) ส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ และบริษัทย่อย ณ สิ้นไตรมาส 1 ปี 2549 รวมจำนวน 13,469 ล้านบาท เป็นส่วนของผู้ถือหุ้นบริษัท จำนวน 13,469 ล้านบาท และเป็นส่วนของผู้ถือหุ้นส่วนน้อยจำนวน 0.5 ล้านบาท 2) ส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัท บางจากฯ ณ สิ้นไตรมาส 1 ปี 2549 จำนวน 13,472 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 602 ล้านบาท จาก ณ สิ้นปี 2548 เนื่องจากบริษัทฯ มีผลกำไรสุทธิในไตรมาส 1 ปี 2549 จำนวน 657 ล้านบาท แต่ได้มีการทยอยตัดจำหน่ายส่วนเกินทุนจากการตีราคาสินทรัพย์ในงวดนี้เป็นจำนวน 55 ล้านบาท 3. คำอธิบายและการวิเคราะห์งบกระแสเงินสด สำหรับไตรมาส 1 ปี 2549เปรียบเทียบไตรมาส 1 ปี 2548 3.1 ในไตรมาส 1 ปี 2549 บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีเงินสดต้นงวดยกมา 1,753 ล้านบาท โดยในระหว่าง ไตรมาสมีเงินสดสุทธิได้มาจากกิจกรรมต่างๆจำนวน 1,531 ล้านบาท โดยเป็นเงินสดที่ได้มาจากกิจกรรม ดำเนินงานจำนวน 2,065 ล้านบาท มีเงินสดได้มาจากกิจกรรมลงทุน 29 ล้านบาท และ ใช้เงินสดไปใน กิจกรรมการจัดหาเงิน 564 ล้านบาท ดังนั้น คงเหลือเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสด ณ สิ้นไตรมาส 1 ปี 2549 จำนวน 3,284 ล้านบาท โดยเป็นเงินสดของบริษัท บางจากฯ จำนวน 3,097 ล้านบาท และเป็น เงินสดของบริษัท บางจากกรีนเนท จำนวน 187 ล้านบาท 3.2 ในไตรมาส 1 ปี 2549 บริษัทฯ มีกำไรสุทธิ 657 ล้านบาท บวกกลับค่าใช้จ่ายที่ไม่ใช่เงินสดจำนวน 205 ล้านบาท ดังนั้น บริษัทฯ มีกำไรที่เป็นเงินสดจำนวน 862 ล้านบาท และมีเงินสดต้นงวดจำนวน 1,561 ล้านบาท โดยบริษัทฯ มีกิจกรรมในการได้มาหรือใช้ไปซึ่งเงินสดในระหว่างงวดดังต่อไปนี้ 1) บริษัทฯ มีเงินสดสุทธิได้มาจากสินทรัพย์และหนี้สินดำเนินงานจำนวน 1,206 ล้านบาท เนื่องจากบริษัทฯ ลดปริมาณน้ำมันดิบคงคลังลง ทำให้บริษัทฯมีเงินสดเพิ่มขึ้นจำนวน 1,186 ล้านบาท และมีเงินสดสุทธิได้มาจาก สินทรัพย์และหนี้สินดำเนินงานอื่นเพิ่มขึ้นอีก 20 ล้านบาท 2) บริษัทฯ มีเงินสดได้มาจากกิจกรรมลงทุนอีก 32 ล้านบาท จากการได้รับคืนเงินที่ฝากค้ำประกันความเสี่ยง สัญญาซื้อขายน้ำมันล่วงหน้า ที่บริษัทฯได้ทำไว้กับคู่สัญญาในต่างประเทศจำนวน 78 ล้านบาท และมีการจ่าย เงินสำหรับการลงทุนเพิ่มในสินทรัพย์ถาวร-อุปกรณ์จำนวน 47 ล้านบาท รวมทั้งได้รับเงินสดเพิ่มจากสินทรัพย์ ไม่หมุนเวียนอีก 1 ล้านบาท 3) บริษัทฯ มีเงินสดใช้ไปในกิจกรรมจัดหาเงิน 564 ล้านบาท โดยชำระคืนเงินกู้ให้แก่ธนาคารกรุงไทย ซึ่งเป็นประเภทเงินกู้ยืมระยะสั้นจำนวน 500 ล้านบาท และประเภทเงินกู้ระยะยาวอีกจำนวน 64 ล้านบาท ดังนั้น ณ สิ้นไตรมาส 1 ปี 2549 บริษัทฯ มีเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสด 3,097 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,536 ล้านบาท เมื่อเทียบกับ ณ สิ้นปี 2548 4. ปัจจัยและอิทธิพลหลักที่อาจมีผลกระทบต่อการดำเนินงานหรือฐานะการเงินในอนาคต ปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อผลการดำเนินงานของบริษัทฯซึ่งดำเนินธุรกิจน้ำมัน คือค่าการตลาดและค่าการกลั่น ในส่วน ของค่าการตลาดจะได้รับผลกระทบจากความผันผวนของราคาน้ำมัน ซึ่งส่งผลต่อการปรับราคาขายปลีกเนื่องจาก การขึ้นลงของราคาขายปลีกดังกล่าวทำได้ล่าช้ากว่าต้นทุนจริงที่เกิดขึ้น เมื่อพิจารณาในส่วนของค่าการกลั่น จากการที่โรงกลั่นของบริษัทฯ เป็นโรงกลั่นประเภท Simple Refinery ซึ่งมีสัดส่วนผลิตภัณฑ์น้ำมันเตา มากเมื่อเปรียบเทียบกับโรงกลั่นประเภท Complex Refinery โดยน้ำมันเตามีราคาต่ำกว่าราคาน้ำมันดิบ ทำให้ค่าการกลั่นของบริษัทฯ ถูกจำกัดไว้ แต่จากการที่บริษัทฯ ได้ดำเนินการส่งน้ำมันเตาของบริษัทฯ ไปเพิ่ม มูลค่าที่โรงกลั่นอื่นก็สามารถลดผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าวได้บางส่วน ซึ่งบริษัทฯ มีความจำเป็นต้องจัดหา แนวทางการลดสัดส่วนการผลิตน้ำมันเตาในระยะยาวเพื่อเพิ่มค่าการกลั่นให้อยู่ในระดับที่ทัดเทียมกับอุตสาหกรรม ดังนั้นบริษัทฯ จึงดำเนินโครงการปรับปรุงคุณภาพน้ำมัน (PQI) โดยการก่อสร้างหน่วยแตกตัวโมเลกุลน้ำมัน (Cracking Unit) และหน่วยอื่นๆ ซึ่งจะทำให้โรงกลั่นของบริษัทฯเปลี่ยนเป็นโรงกลั่นประเภท Complex Refinery ซึ่งสามารถลดสัดส่วนการผลิตน้ำมันเตาให้อยู่ในระดับใกล้เคียงกับโรงกลั่นอื่นๆ ทั้งใน ประเทศ และต่างประเทศ บริษัทฯคาดว่าโครงการฯดังกล่าวจะสามารถเริ่มการผลิตได้สิ้นปี 2551 และคาดว่าจะ ทำให้บริษัทฯสามารถเพิ่ม EBITDA จากประมาณ 4,000 ล้านบาทในปี 2548 เป็นประมาณ 6,000-8,000 ล้านบาท หลังจากที่โครงการฯดำเนินการเสร็จสมบูรณ์ และดำเนินการผลิตอย่างเต็มที่ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับภาวะ ราคาน้ำมัน ณ ขณะนั้นๆ ซึ่งโครงการ PQI ขณะนี้ได้เริ่มดำเนินการแล้วโดยมีมูลค่าการลงทุนรวมเงินลงทุน สำรองกรณีมีการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการ (Contingency Reserve) ทั้งสิ้น 378 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยบริษัทได้จัดจ้างบบริษัท CTCI Overseas Corporation Limited และ CTCI (Thailand Co.,Ltd) เป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง มีระยะเวลาก่อสร้างรวมการทดลองเดินเครื่องทั้งสิ้น 32 เดือน ในส่วนของการ จัดหาเงินทุนสำหรับโครงการดังกล่าวได้ดำเนินการแล้วเสร็จครบถ้วนตั้งแต่วันที่ 16 พฤษภาคม 2549 นอกจากนี้ ระดับราคาน้ำมันก็ยังมีผลกระทบสำคัญต่อผลการดำเนินงานของบริษัทฯ โดยราคาน้ำมันได้ปรับตัว สูงขึ้นตั้งแต่ช่วงปลายปี 2546 เป็นต้นมา ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าราคาน้ำมันอาจปรับตัวลดลงในอนาคต เนื่องจาก มีการปรับฐานของระดับราคาเป็นครั้งคราว แต่บริษัทฯ คาดว่าระดับราคาน้ำมันดิบและน้ำมัน สำเร็จรูป จะยังคงอยู่ในระดับที่สูงต่อไป ซึ่งบริษัทฯก็มีส่วนงานที่คอยติดตามและบริหารความเสี่ยงดังกล่าว อย่างใกล้ชิด ปัจจัยอีกประการหนึ่งที่อาจมีผลต่อผลการดำเนินงานและฐานะการเงินในอนาคตของบริษัทฯคือ ความผันผวน ของอัตราแลกเปลี่ยน เนื่องจากในการซื้อและขายน้ำมันนั้น บริษัทฯจะบันทึกรายการเจ้าหนี้การค้าและ รายการลูกหนี้การค้าตามลำดับ โดยการอ้างอิงราคาอยู่กับสกุลเงินเหรียญสหรัฐ ซึ่งการเปลี่ยนแปลง ของอัตราแลกเปลี่ยนจะส่งผลต่อมูลค่าของสินทรัพย์สุทธิ แต่ทั้งนี้บริษัทฯก็มีนโยบายที่จะปรับสัดส่วน สินทรัพย์และหนี้สินที่อยู่ในรูปสกุลเงินเหรียญสหรัฐ ให้อยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกันเมื่อมีความพร้อม โดยปัจจุบันบริษัทฯได้ดำเนินการทำประกันความเสี่ยงดังกล่าวโดยใช้เครื่องมือทางการเงินที่มีอยู่ใน ตลาดแล้วบางส่วน