ข่าวแจ้งตลาดหลักทรัพย์
คำอธิบายและการวิเคราะห์ของฝ่ายจัดการ - 31 ธ.ค. 2548
ที่ 1000 / 061 / 2549
8 มีนาคม 2549
เรื่อง คำอธิบายและการวิเคราะห์ของฝ่ายจัดการ สำหรับผลการดำเนินงานสำหรับปีสิ้นสุด
วันที่ 31 ธันวาคม 2548
เรียน กรรมการและผู้จัดการ
ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
สิ่งที่ส่งมาด้วย คำอธิบายและการวิเคราะห์ของฝ่ายจัดการ สำหรับผลการดำเนินงานสำหรับปีสิ้นสุด
วันที่ 31 ธันวาคม 2548
ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้สนับสนุนให้บริษัทจดทะเบียน
ในตลาดหลักทรัพย์ มีการจัดทำคำอธิบายและการวิเคราะห์ของฝ่ายจัดการทุกไตรมาส เพื่อให้ผู้ลงทุนสามารถ
เข้าใจฐานะการเงินและผลการดำเนินงานของบริษัทได้ดียิ่งขึ้นนอกเหนือจากข้อมูลตัวเลขในงบการเงิน อีกทั้ง
เพื่อให้ผู้ลงทุนได้มีข้อมูลที่เพียงพอต่อการตัดสินใจลงทุนในหลักทรัพย์ของบริษัท ตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี
(GOOD GOVERNANCE) ในเรื่องการให้ความสำคัญต่อการเปิดเผยข้อมูล นั้น
บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ในฐานะที่เป็นบริษัทจดทะเบียนหนึ่งในตลาดหลักทรัพย์ได้ให้ความ
สำคัญต่อการดำเนินกิจการอย่างโปร่งใสตามแนวนโยบายบรรษัทภิบาล จึงได้จัดทำและใคร่ขอนำส่งคำอธิบาย
และการวิเคราะห์ของฝ่ายจัดการ สำหรับผลการดำเนินงานสำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2548
ดังรายละเอียดตามสิ่งที่ส่งมาด้วย
จึงเรียนมาเพื่อทราบ
ขอแสดงความนับถือ
-ลงนาม-
(นายปฏิภาณ สุคนธมาน)
รองกรรมการผู้จัดการใหญ่
สายงานด้านบัญชีและการเงิน
สำนักแผนกิจการและนักลงทุนสัมพันธ์
โทร 0 -2335-4583
สำเนาเรียน ผู้อำนวยการฝ่ายจดทะเบียนหลักทรัพย์
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)
คำอธิบายและการวิเคราะห์ของฝ่ายจัดการ
ผลการดำเนินงานสำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2548
ข้อมูลทั่วไป
บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2528 โดย รัฐบาล ฯพณฯ พลเอกเปรม
ติณสูลานนท์ โดยมุ่งหมายให้ดำเนินการแบบเอกชน และเป็นบริษัทน้ำมันของคนไทยที่ดำเนินกิจการสอดคล้อง
กับประโยชน์ของคนไทยและสังคมไทย ปัจจุบันบริษัทฯ ประกอบธุรกิจจำหน่ายน้ำมันสำเร็จรูป ทั้งค้าปลีกและ
ค้าส่ง และบริหารกิจการโรงกลั่นน้ำมันขนาด 120,000 บาเรลต่อวัน ซึ่งก่อสร้างใหม่ทดแทนหน่วยเดิม
โดยหน่วยกลั่นล่าสุดแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2536 การออกแบบกระบวนการกลั่นเน้นการผลิตได้น้ำมันสะอาด
ประหยัดพลังงาน และให้ผลผลิตสูง อีกทั้ง บริษัทฯ มีการขยายเครือข่ายสถานีบริการน้ำมันออกไปประมาณ
1,100 แห่ง ทั่วประเทศ โดยเป็นสถานีบริการน้ำมันขนาดใหญ่ประมาณ 600 แห่ง และปั๊มชุมชนขนาดเล็ก
ประมาณ 500 แห่ง
ภาพรวมธุรกิจปี 2548
สำหรับปี 2548 บริษัทฯ ดำเนินกิจการภายใต้การปรับเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันในตลาดโลก อันเป็นผลสืบเนื่อง
มาจากความต้องการใช้น้ำมันที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างมากเมื่อเปรียบเทียบกับกำลังการผลิต ประกอบกับ
ความวิตกในเหตุการณ์พายุเฮอริเคนในประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งส่งผลให้โรงกลั่นหลายแห่งต้องหยุดดำเนิน
การชั่วคราว ซึ่งจากเหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลให้ราคาน้ำมันเบนซินและดีเซลในตลาดโลกและตลาดสิงคโปร์
ได้ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นมากเป็นประวัติการณ์ แต่อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันเตาได้ปรับตัวขึ้นในอัตราที่น้อยกว่า
ราคาน้ำมันดิบ และน้ำมันสำเร็จรูปชนิดอื่น ส่งผลให้โรงกลั่นที่ให้ผลผลิตน้ำมันเตาค่อนข้างมากมีข้อจำกัด
ในการใช้กำลังการผลิต สำหรับสถานการณ์ราคาน้ำมันในประเทศ หลังจากรัฐบาลได้ตัดสินใจประกาศลอยตัว
ราคาน้ำมันดีเซลในช่วงไตรมาส 2 ที่ผ่านมา การปรับราคาขายปลีกของผู้ค้าน้ำมันทำได้ช้ากว่าต้นทุนที่ปรับตัว
เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วตามราคาน้ำมันสำเร็จรูปในตลาดโลก ส่งผลให้ค่าการตลาดอยู่ในระดับต่ำ ส่วนความต้อง
การใช้น้ำมันยังคงอยู่ในระดับใกล้เคียงกับปีก่อนซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อ
เนื่องตลอดทั้งปี โดยผู้ประกอบกิจการธุรกิจน้ำมันและสถานีบริการน้ำมันได้มีการรุกตลาดน้ำมันแก๊สโซฮอล์
ประกอบกับมีการปรับปรุงสถานีบริการน้ำมันให้มีความทันสมัย เพื่อช่วงชิงส่วนแบ่งการตลาด
1. คำอธิบายและวิเคราะห์ผลการดำเนินงานสำหรับปี 2548 เปรียบเทียบปี 2547
1.1 การวิเคราะห์กำไรขาดทุน
1) ผลการดำเนินงานปี 2548 บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิรวมจำนวน 2,927 ล้านบาท ประกอบด้วย
ผลกำไรของบริษัท บางจากฯ จำนวน 2,927 ล้านบาท และผลกำไรของบริษัท บางจากกรีนเนท 12 ล้านบาท
แต่หักกำไรระหว่างกัน 12 ล้านบาท
2) ผลการดำเนินงานบริษัท บางจากฯ มี EBITDA 4,573 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันปีก่อนที่อยู่ที่
4,089 ล้านบาท อยู่ 484 ล้านบาท เป็นผลมาจากปัจจัยหลักดังต่อไปนี้
- EBITDA จากธุรกิจโรงกลั่น 4,881 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันปีก่อนที่ 3,456 ล้านบาท อยู่ 1,425
ล้านบาท เนื่องจากปี 2548 บริษัทฯ มีค่าการกลั่น (ไม่รวมกำไรจากสต๊อกน้ำมัน) ที่ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 3.59
เหรียญสหรัฐต่อบาเรล สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนที่อยู่ที่ระดับ 1.84 เหรียญสหรัฐต่อบาเรล เนื่องจาก
ความต้องการใช้น้ำมันของภูมิภาคได้ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก เมื่อเปรียบเทียบกับกำลังการผลิต ส่งผลให้
กำลังการผลิตส่วนเกินใกล้หมดไป ค่าการกลั่นจึงมีการปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับ ในไตรมาส 3 ปี 2548
โรงกลั่นหลายแห่งในสหรัฐอเมริกาได้หยุดดำเนินการจากเหตุการณ์พายุเฮอริเคน ส่งผลให้ราคาน้ำมันเบนซิน
และดีเซลได้ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก ซึ่งส่งผลต่อเนื่องมาสู่ราคาน้ำมันในตลาดสิงคโปร์และค่าการกลั่น
ในทิศทางเดียวกัน แต่อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันเตาได้ปรับตัวขึ้นในอัตราที่น้อยกว่าน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จ
รูปชนิดอื่น ส่งผลให้บริษัทฯ ต้องลดการใช้กำลังการกลั่นลง เพื่อลดปริมาณการผลิตน้ำมันเตาให้อยู่ในระดับ
ที่เหมาะสม และรักษาระดับค่าการกลั่นให้อยู่ในระดับสูง โดยเลือกจำหน่ายเฉพาะในตลาดที่มีกำไร และส่ง
น้ำมันเตาไปเพิ่มมูลค่าที่โรงกลั่นไทยออยล์ให้มากที่สุด นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังมีกำไรจากสต๊อกน้ำมันจำนวน
2,313 ล้านบาท สูงกว่าปีก่อนที่อยู่ที่ระดับ 2,176 ล้านบาท จากราคาน้ำมันได้ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ตั้งแต่ปีก่อน โดยราคาน้ำมันดิบดูไบได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นเฉลี่ยจาก 33.6 เหรียญสหรัฐต่อบาเรล ในปี 2547
เป็นเฉลี่ย 49.5 เหรียญสหรัฐต่อบาเรล ในปี 2548
ดังนั้น ในปี 2548 บริษัทฯ มีค่าการกลั่นรวมอยู่ที่ระดับ 5.85 เหรียญสหรัฐต่อบาเรล โดยการใช้กำลังการผลิต
อยู่ที่ระดับ 62 พันบาเรลต่อวัน ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีก่อนที่อยู่ที่ระดับ 90 พันบาเรลต่อวัน
-EBITDA จากธุรกิจการตลาด -308 ล้านบาท ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีก่อนที่ 633 ล้านบาท อยู่ 941 ล้านบาท
เนื่องจากค่าการตลาดอยู่ที่ระดับ 15.4 สตางค์ต่อลิตร ต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนที่อยู่ที่ระดับ 43.0 สตางค์
ต่อลิตร ทั้งนี้เป็นผลมาจากการปรับราคาขายปลีกได้ช้ากว่าต้นทุนที่มีการปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็วตามราคา
น้ำมันในตลาดโลก แต่อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ มีผลกำไรจากการขายน้ำมันเครื่องบิน จำนวน 118 ล้านบาท
หรือ 33.8 สตางค์ต่อลิตร
ทั้งนี้ ปริมาณการจำหน่ายของธุรกิจการตลาดอยู่ที่ระดับ 53 พันบาเรลต่อวัน ลดลงจากปีก่อนที่อยู่ที่ระดับ 56
พันบาเรลต่อวัน จากการที่บริษัทฯ ได้เลือกที่จะจำหน่ายในเฉพาะตลาดที่มีกำไรสูงในช่วงที่มีการจำกัดปริมาณ
การผลิต
1.2 การวิเคราะห์รายได้
รายได้รวมของบริษัทฯ และบริษัทย่อยจำนวน 86,528 ล้านบาท ประกอบด้วย รายได้ของบริษัท บางจากฯ
จำนวน 85,663 ล้านบาท และรายได้ของบริษัท บางจากกรีนเนท จำนวน 10,488 ล้านบาท ในรายได้
ดังกล่าวเป็นรายการระหว่างกันจำนวน 9,623 ล้านบาท โดยรายได้ของบริษัท บางจากฯ ที่มีการเปลี่ยน
แปลงหลักคือ
1) รายได้จากการขายน้ำมัน 85,035 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 6,133 ล้านบาท เนื่องจากราคาขายน้ำมัน
เฉลี่ยเพิ่มขึ้น 38.1% (ราคาน้ำมันเฉลี่ย 16.06 บาท/ลิตร เทียบกับ 11.62 บาท/ลิตร) แต่ปริมาณการ
จำหน่ายน้ำมันลดลงประมาณ 22.0%
2) บริษัทฯ มีกำไรจากสัญญาซื้อขายน้ำมันดิบและผลิตภัณฑ์น้ำมันล่วงหน้าจำนวน 537 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน
ที่อยู่ที่ระดับ 2 ล้านบาทเป็นผลมาจากบริษัทฯ มีนโยบายการทำประกันความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาน้ำมัน
ส่งผลให้มีการเข้าทำสัญญาซื้อขายน้ำมันล่วงหน้าเป็นระยะๆ แม้ว่าในปีที่ผ่านมาราคาน้ำมันจะปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น
แต่ในบางช่วงราคาน้ำมันก็มีการปรับตัวลดลงเป็นบางครั้งคราวเพื่อปรับฐานราคาโดยเฉพาะในช่วงปลายปีที่
ผ่านมา ส่งผลทำให้บริษัทฯ มีกำไรจากการเข้าทำสัญญาประกันความเสี่ยงในช่วงเวลาดังกล่าว
3) บริษัทฯ มีการบันทึกกำไรจากบริษัทย่อยตามวิธีส่วนได้เสียในปี 2548 จำนวน 14 ล้านบาท
1.3 การวิเคราะห์ค่าใช้จ่าย
ค่าใช้จ่ายรวมของบริษัทฯ และบริษัทย่อยจำนวน 83,317 ล้านบาท ประกอบด้วย ค่าใช้จ่ายของบริษัท
บางจากฯ จำนวน 82,458 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายของบริษัท บางจากกรีนเนทจำนวน 10,470 ล้านบาท
โดยค่าใช้จ่ายดังกล่าวเป็นรายการระหว่างกันจำนวน 9,611 ล้านบาท โดยค่าใช้จ่ายของบริษัท บางจากฯ
ที่มีการเปลี่ยนแปลงหลักคือ
1) ต้นทุนขายจำนวน 79,865 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน 5,718 ล้านบาท เป็นผลมาจาก
ราคาน้ำมันดิบได้ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยน้ำมันดิบดูไบปรับตัวสูงขึ้นเฉลี่ยประมาณ 16 เหรียญสหรัฐ
ต่อบาเรล เมื่อเทียบกับปีก่อน แต่ปริมาณการกลั่นและจำหน่ายน้ำมันสำเร็จรูปลดลงรวม 22.0%
2) ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร จำนวน 1,622 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 255 ล้านบาท เนื่องจาก
ค่าใช้จ่ายหลักที่เพิ่มขึ้นคือ ค่าใช้จ่ายซ่อมบำรุงสถานีบริการเพิ่มขึ้นจากการเร่งปรับปรุงสถานีบริการ เพื่อการ
จำหน่ายน้ำมันแก๊สโซฮอล์และปรับปรุงภาพลักษณ์ ค่าขนส่งน้ำมันไปยังลูกค้าเพิ่มขึ้นจากต้นทุนที่ เพิ่มขึ้นตาม
ราคาน้ำมันที่ปรับตัวเพิ่ม และค่าโฆษณาประชาสัมพันธ์เพิ่มขึ้นจากการเร่งโฆษณาประชาสัมพันธ์การจำหน่าย
น้ำมันแก๊สโซฮอล์
3) บริษัทฯ มีดอกเบี้ยจ่าย 639 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อน 147 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลมาจากการทยอยแปลง
สภาพของ ใบแสดงสิทธิในผลประโยชน์ที่เกิดจากหุ้นกู้แปลงสภาพรวมจำนวน 1,774 ล้านบาทตั้งแต่ไตรมาส 2
ปี 2547 เป็นต้นมา ประกอบกับได้มีการทยอยชำระคืนหุ้นกู้ที่ครบกำหนดชำระที่มีอัตราดอกเบี้ยสูง ด้วยเงินกู้
ใหม่จากธนาคารกรุงไทยซึ่งมีอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่า
4) บริษัทฯ มีภาษีเงินได้จำนวน 278 ล้านบาท จากการที่บริษัทฯ สามารถทำกำไรได้มากกว่าผลขาดทุนสะสม
ทางภาษีย กมา (Tax Credit) ส่งผลให้บริษัทฯ ต้องเริ่มจ่ายภาษีเงินได้นิติบุคคล
2. คำอธิบายและการวิเคราะห์ฐานะการเงินสำหรับ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2548 เปรียบเทียบ ณ วันที่
31 ธันวาคม 2547
2.1 สินทรัพย์
1) สินทรัพย์รวม ณ สิ้นปี 2548 มีจำนวน 34,263 ล้านบาท ประกอบด้วยสินทรัพย์ของบริษัท จำนวน 34,164
ล้านบาท และบริษัท บางจากกรีนเนท จำนวน 513 ล้านบาท ในสินทรัพย์ดังกล่าวมีสินทรัพย์ระหว่างกันจำนวน
414 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นบัญชีลูกหนี้ระหว่างกันที่บริษัทฯ ให้เครดิตการค้าประมาณ 15 วันกับบริษัท
บางจากกรีนเนท
2) สินทรัพย์รวมของบริษัท บางจากฯ ณ สิ้นปี 2548 เทียบกับ ณ สิ้นปี 2547 มีมูลค่าลดลงจำนวน 105
ล้านบาท ประกอบด้วยสินทรัพย์หลักที่ลดลงคือ
-เงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดจำนวน 1,561 ล้านบาท ลดลง 333 ล้านบาท เมื่อเทียบกับ ณ สิ้นปี
2547 (รายละเอียดดูคำอธิบายเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดจากคำอธิบายและการวิเคราะห์
งบกระแสเงินสดในข้อ 3)
-ลูกหนี้/ตั๋วเงินรับการค้า มีมูลค่า 3,998 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 377 ล้านบาท เมื่อเทียบกับ ณ สิ้นปี 2547
เนื่องจากราคาน้ำมันได้ปรับเพิ่มสูงขึ้น แต่บริษัทฯ ได้ลดปริมาณการจำหน่ายลงในช่วงที่ค่าการตลาดอยู่ใน
ระดับต่ำ
-สินค้าคงเหลือรวมทั้งสิ้นเท่ากับ 10,671 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 725 ล้านบาท เมื่อเทียบกับ ณ สิ้นปี 2547
เนื่องจากราคาเฉลี่ยได้ปรับเพิ่มขึ้น 4.42 บาท/ ลิตร แต่ปริมาณสินค้าคงเหลือลดลง 208 ล้านลิตร มาอยู่ที่
ระดับ 687 ล้านลิตร ตามปริมาณการกลั่นและจำหน่ายที่ปรับลดลง
-เงินชดเชยกองทุนน้ำมันค้างรับจำนวนเงิน 433 ล้านบาท ลดลงจากสิ้นปี 2547 จำนวน 909 ล้านบาท
เป็นผลมาจากรัฐประกาศลอยตัวราคาน้ำมันดีเซลในช่วงไตรมาส 2 ปี 2548 ที่ผ่านมา
2.2 หนี้สิน
1) หนี้สินรวม ณ สิ้นปี 2548 จำนวน 21,393 ล้านบาท ประกอบด้วยหนี้สินของบริษัทจำนวน 21,294
ล้านบาท และของบริษัทบางจากกรีนเนท จำนวน 498 ล้านบาท ซึ่งในหนี้สินของบริษัทบางจากกรีนเนท
เป็นหนี้ระหว่างกันกับบริษัท จำนวน 399 ล้านบาท
2) หนี้สินรวมของบริษัท บางจากฯ ณ สิ้นปี 2548 เทียบกับ ณ สิ้นปี 2547 มีมูลค่าลดลง 3,195 ล้านบาท
ประกอบด้วยหนี้สินหลักที่เปลี่ยนแปลงคือ
-เงินกู้รวมจำนวน 13,480 ล้านบาท เมื่อเทียบกับ ณ สิ้นปี 2547 ลดลง 1,441 ล้านบาทเป็นผลมาจากการ
ชำระคืนเงินกู้ที่ครบกำหนดชำระในปี 2548 จำนวน 1,756 ล้านบาท โดยบริษัทฯ ได้ดำเนินการเบิกเงินกู้
ระยะยาว จากธนาคารกรุงไทยจำนวน 700 ล้านบาท เพื่อนำมาชำระหนี้ที่ครบกำหนดชำระดังกล่าวส่วนหนึ่ง
นอกจากนี้ มีผู้ถือใบแสดงสิทธิในผลประโยชน์ที่เกิดจากหุ้นกู้แปลงสภาพ (CDDR) ได้ขอใช้สิทธิแปลงสภาพ
เป็นหุ้นสามัญมูลค่ารวม 385 ล้านบาท
-ยอดเจ้าหนี้การค้าจำนวน 5,478 ล้านบาท เมื่อเทียบกับ ณ สิ้นปี 2547 ลดลง 2,105 ล้านบาท เนื่องจาก
ในปี 2548 มีการสั่งซื้อน้ำมันดิบลดลงจากการจำกัดปริมาณการกลั่นขายเฉพาะในตลาดที่มีกำไร โดยมีการ
ชำระค่าน้ำมันดิบล่วงหน้าบางช่วงเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายด้านการเงิน
-ในปี 2548 บริษัทฯ ต้องเริ่มจ่ายภาษีเงินได้นิติบุคคลจำนวน 278 ล้านบาท จากการที่บริษัทฯ สามารถทำกำไร
ได้มากกว่าผลขาดทุนสะสมทางภาษียกมา (Tax Credit) แต่อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ มีภาษีที่ถูกหัก ณ ที่จ่ายไว้
ประมาณ 29 ล้านบาท ส่งผลให้ ณ สิ้นปี 2548 บริษัทฯ มีการตั้งภาษีเงินได้ค้างจ่ายจำนวน 249 ล้านบาท
2.3 ส่วนของผู้ถือหุ้น
1) ส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ และบริษัทย่อย ณ สิ้นปี 2548 รวมจำนวน 12,870 ล้านบาทเป็นส่วนของผู้ถือหุ้น
ของบริษัท บางจากฯ จำนวน 12,870 ล้านบาท และเป็นส่วนของผู้ถือหุ้นส่วนน้อยจำนวน 0.5 ล้านบาท
2) ส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัท บางจากฯ ณ สิ้นปี 2548 เพิ่มขึ้น 3,090 ล้านบาท จาก ณ สิ้นปี 2547
เนื่องจากในปี 2548 บริษัทฯ มีผลกำไรสุทธิจำนวน 2,927 ล้านบาท และมีผู้ถือใบแสดงสิทธิในผลประโยชน์
ที่เกิดจากหุ้นกู้แปลงสภาพ (CDDR) ได้ขอใช้สิทธิแปลงสภาพเป็นหุ้นสามัญมูลค่ารวม 385 ล้านบาท
(บันทึกอยู่ในทุนจดทะเบียน 27 ล้านบาท และบันทึกอยู่ในส่วนเกินมูลค่าหุ้น 358 ล้านบาท) ส่งผลให้ส่วนของ
ผู้ถือหุ้น ณ สิ้นปี 2548 มีจำนวน 12,870 ล้านบาท
3. คำอธิบายและการวิเคราะห์งบกระแสเงินสด สำหรับปี 2548 เปรียบเทียบกับปี 2547
3.1 ในปี 2548 บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีกำไรจากการดำเนินงานที่เป็นเงินสดจำนวน 3,750 ล้านบาท
เป็นกำไรจากการดำเนินงานที่เป็นเงินสดของบริษัท บางจากฯ จำนวน 3,732 ล้านบาท และกำไรจากการ
ดำเนินงานที่เป็นเงินสดของบริษัท บางจากกรีนเนท จำนวน 18 ล้านบาท นอกจากนี้ บริษัทฯ และบริษัทย่อย
มีเงินสดต้นงวดยกมา 2,213 ล้านบาท เป็นเงินสดต้นงวดของบริษัท บางจากฯ จำนวน 1,894 ล้านบาท
และเป็นเงินสดต้นงวดของบริษัท บางจากกรีนเนท จำนวน 319 ล้านบาท ทั้งนี้ บริษัทฯ และบริษัทย่อย
ได้ใช้เงินสดดังกล่าวในกิจกรรมต่างๆ จำนวน 4,209 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่เป็นเงินสดใช้ไปในสินทรัพย์และ
หนี้สินดำเนินงานจำนวน 2,177 ล้านบาท และเป็นการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรและสินทรัพย์ไม่หมุนเวียนอื่นๆ
จำนวน 976 ล้านบาท และมีเงินสดใช้ไปในกิจกรรมจัดหาเงินจำนวน 1,056 ล้านบาท ดังนั้น คงเหลือ
เงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสด ณ สิ้นไตรมาส 3 ปี 2548 จำนวน 1,753 ล้านบาท โดยเป็นเงินสด
ของบริษัท บางจากฯ จำนวน 1,561 ล้านบาท และเป็นเงินสดของบริษัท บางจากกรีนเนท จำนวน
192 ล้านบาท
3.2 บริษัทฯ มีกำไรสุทธิ 2,927 ล้านบาท บวกกลับค่าใช้จ่ายที่ไม่ใช้เงินสดจำนวน 805 ล้านบาท ดังนั้น
บริษัทฯ มีกำไรที่เป็นเงินสดจำนวน 3,732 ล้านบาท และมีเงินสดต้นงวดจำนวน 1,894 ล้านบาท โดยบริษัทฯ
ได้ใช้เงินสดดังกล่าวไปในกิจกรรมดังต่อไปนี้
1) บริษัทฯ มีเงินสดสุทธิที่ใช้ไปในสินทรัพย์และหนี้สินดำเนินงานจำนวน 2,031 ล้านบาท เนื่องจากราคาน้ำมัน
ได้ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้บริษัทฯ ต้องใช้เงินสดเพิ่มมากขึ้นในการซื้อน้ำมันดิบเพื่อใช้เป็นน้ำมันคงคลัง
ในกิจกรรมการกลั่น อีกทั้ง มูลค่าลูกหนี้การค้าก็ปรับตัวสูงขึ้นเช่นเดียวกัน นอกจากนี้ บริษัทฯ ได้มีการชำระ
ค่าน้ำมันดิบล่วงหน้าเป็นบางช่วงเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายด้านการเงิน ส่งผลให้มูลค่าเจ้าหนี้การค้าลดลง
2) บริษัทฯ มีเงินสดที่ใช้ไปในกิจกรรมลงทุนอีก 978 ล้านบาท จากการที่มีการลงทุนเพิ่มในสินทรัพย์ถาวร
อุปกรณ์ สถานีบริการและโรงกลั่นน้ำมันรวมถึงการลงทุนในระยะแรกของโครงการปรับปรุงคุณภาพน้ำมัน (PQI)
3) บริษัทฯ มีเงินสดใช้ไปในกิจกรรมจัดหาเงิน 1,056 ล้านบาท จากการชำระคืนหนี้เงินกู้ที่ครบกำหนดชำระ
ในปี จำนวน 1,756 ล้านบาท โดยบริษัทฯ ได้ดำเนินการเบิกเงินกู้ระยะยาวจากธนาคารกรุงไทยจำนวน 700
ล้านบาท เพื่อนำมาชำระหนี้ที่ครบกำหนดชำระดังกล่าวส่วนหนึ่ง
ดังนั้น ณ สิ้นปี 2548 บริษัทฯ มีเงินสด และรายการเทียบเท่าเงินสด 1,561 ล้านบาท ลดลง 333 ล้านบาท
เมื่อเทียบกับ ณ สิ้นปี 2547
4. คำอธิบายและการวิเคราะห์อัตราส่วนทางการเงิน สำหรับปี 2548 เปรียบเทียบกับปี 2547
ปี 2548 ปี 2547
อัตราส่วนสภาพคล่อง (Liquidity Ratio)
-อัตราส่วนสภาพคล่อง (Current Ratio) 1.9 เท่า 1.4 เท่า
-อัตราส่วนสภาพคล่องหมุนเร็ว (Quick Ratio) 0.7 เท่า 0.6 เท่า
-อัตราส่วนหมุนเวียนลูกหนี้การค้า (Receivable Turnover) 24.6 เท่า 27.1 เท่า
-ระยะเวลาเก็บหนี้เฉลี่ย (Collection Period) 14.6 วัน 13.3 วัน
-อัตราส่วนหมุนเวียนสินค้าคงเหลือ (Inventory Turnover) 7.6 เท่า 9.5 เท่า
-ระยะเวลาขายสินค้าเฉลี่ย (Inventory Turnover Period) 47.2 วัน 37.7 วัน
-อัตราส่วนหมุนเวียนเจ้าหนี้ (Account Payable Turnover) 12.1 เท่า 12.3 เท่า
-ระยะเวลาชำระหนี้ (Payment Period) 29.7 วัน 29.2 วัน
-Cash Cycle 32.1 วัน 21.8 วัน
อัตราส่วนแสดงความสามารถในการหากำไร (Profitability Ratio)
-อัตรากำไรขั้นต้น (Gross Profit Margin) ร้อยละ 6.4 ร้อยละ 6.3
-อัตรากำไรสุทธิ (Net Profit Margin) ร้อยละ 3.4 ร้อยละ 3.3
-อัตราผลตอบแทนผู้ถือหุ้น (Return on Equity) ร้อยละ 25.8 ร้อยละ 41.1
อัตราส่วนแสดงประสิทธิภาพในการดำเนินงาน(Efficiency Ratio)
-อัตราผลตอบแทนจากสินทรัพย์ (Return on Total Assets) ร้อยละ 8.5 ร้อยละ 8.4
-อัตราการหมุนของสินทรัพย์ (Assets Turnover) 2.5 เท่า 2.5 เท่า
อัตราส่วนวิเคราะห์นโยบายทางการเงิน (Financial Policy Ratio)
-อัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนผู้ถือหุ้น (Debt to Equity) 1.0 เท่า 1.5 เท่า
หมายเหตุ : คำนวณจากงบการเงินรวม
- คำนวณจากหนี้สินเฉพาะในส่วนที่มีค่าใช้จ่ายดอกเบี้ย (Interest Bearing Debt)
จากการที่บริษัทฯ ได้ปรับโครงสร้างทางการเงินเมื่อต้นปี 2547 ส่งผลทำให้ภาระหนี้ของบริษัทฯ ปรับลดลง
ประกอบกับ ผลประกอบการของบริษัทฯ ก็ได้ปรับตัวดีขึ้นตามลำดับตามสภาวะค่าการกลั่นที่ดีขึ้น จากปัจจัย
ดังกล่าวส่งผลทำให้สภาพคล่องของบริษัทฯ ปรับดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่อย่างไรก็ตาม จากการที่ราคาน้ำมัน
ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลทำให้บริษัทฯ มีมูลค่าน้ำมันคงคลังและลูกหนี้การค้าเพิ่มสูงขึ้น ดังนั้น
อัตราส่วนหมุนเวียนสินค้าคงเหลือและลูกหนี้การค้ามีการปรับลดลง
ปัจจัยและอิทธิพลหลักที่อาจมีผลกระทบต่อการดำเนินงานหรือฐานะการเงินในอนาคต
ปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อผลการดำเนินงานของบริษัทฯซึ่งดำเนินธุรกิจน้ำมัน คือค่าการตลาดและค่าการกลั่น
ซึ่งในส่วนของค่าการตลาด จากสถานการณ์ราคาน้ำมันที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง
น้ำมันเบนซินและดีเซลที่ปรับตัวขึ้นอย่างมากหลังจากรัฐประกาศลอยตัวราคา ส่งผลให้การปรับราคาขายปลีก
ทำได้ล่าช้ากว่าต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งนอกจากจะทำให้มีค่าการตลาดต่ำแล้วยังส่งผลชะลอความต้องการใช้
น้ำมันอีกด้วย แต่ในทางกลับกันหากราคาน้ำมันปรับตัวลดลงก็จะส่งผลต่อค่าการตลาดและความต้องการ
ใช้น้ำมันให้ปรับตัวเพิ่มขึ้นเช่นกัน เมื่อพิจารณาในส่วนของค่าการกลั่น จากการที่โรงกลั่นของบริษัทฯ เป็น
โรงกลั่นประเภท Simple Refinery ซึ่งมีสัดส่วนผลิตภัณฑ์น้ำมันเตามากเมื่อเปรียบเทียบกับโรงกลั่นประเภท
Complex Refinery โดยน้ำมันเตามีราคาต่ำกว่าราคาน้ำมันดิบ ทำให้ค่าการกลั่นของบริษัทฯ ถูกจำกัดไว้
แต่จากการที่บริษัทฯ ได้ดำเนินการส่งน้ำมันเตาของบริษัทฯ ไปเพิ่มมูลค่าที่โรงกลั่นอื่นก็สามารถลดผลกระทบจาก
เหตุการณ์ดังกล่าวได้บางส่วน ซึ่งบริษัทฯ มีความจำเป็นต้องจัดหาแนวทางการลดสัดส่วนการผลิตน้ำมันเตา
ในระยะยาว เพื่อเพิ่มค่าการกลั่นให้อยู่ในระดับที่ทัดเทียมกับอุตสาหกรรม ดังนั้นบริษัทฯ จึงดำเนินโครงการ
ปรับปรุงคุณภาพน้ำมัน โดยการก่อสร้างหน่วยแตกตัวโมเลกุลน้ำมัน (Cracking Unit) และหน่วยอื่นๆ
ซึ่งจะทำให้โรงกลั่นของบริษัทฯเปลี่ยนเป็นโรงกลั่นประเภท Complex Refinery ซึ่งสามารถลดสัดส่วน
การผลิตน้ำมันเตาให้อยู่ในระดับใกล้เคียงกับโรงกลั่นอื่นๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ บริษัทฯคาดว่า
โครงการฯดังกล่าวจะสามารถเริ่มการผลิตได้ในปี 2551 และคาดว่าจะทำให้บริษัทฯสามารถเพิ่ม EBITDA
จากประมาณ 4,000 ล้านบาทในปี 2548 เป็นประมาณ 6,000-8,000 ล้านบาท หลังจากที่โครงการฯดำเนิน
การเสร็จสมบูรณ์ และดำเนินการผลิตอย่างเต็มที่ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับภาวะราคาน้ำมัน ณ ขณะนั้นๆ
นอกจากนี้ ระดับราคาน้ำมันก็ยังมีผลกระทบสำคัญต่อผลการดำเนินงานของบริษัทฯ โดยราคาน้ำมันได้ปรับตัวสูงขึ้น
ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2546 เป็นต้นมา ซึ่งอาจมีความเป็นไปได้ว่าราคาน้ำมันอาจปรับตัวลดลงในบางช่วงในอนาคต
เนื่องจากมีการปรับฐานของระดับราคาเป็นครั้งคราว แต่บริษัทฯ คาดว่าระดับราคาน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูป
จะยังคงอยู่ในระดับที่สูง เนื่องจากความต้องการใช้น้ำมันยังมีอัตราการเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง แต่การ
ขยายกำลังการผลิตยังมีอยู่ค่อนข้างจำกัด ซึ่งการปรับตัวลดลงของราคาน้ำมันดังกล่าวอาจส่งผลให้บริษัทฯ
ได้รับผลกระทบจากมูลค่าสต๊อกน้ำมันที่ลดลง แต่บริษัทฯ ก็มีส่วนงานที่คอยติดตามและบริหารความเสี่ยง
ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด
ปัจจัยอีกประการหนึ่งที่อาจมีผลต่อผลการดำเนินงานและฐานะการเงินในอนาคตของบริษัทฯคือ การผันผวนของ
อัตราแลกเปลี่ยน เนื่องจากราคาซื้อขายน้ำมัน จะอิงอยู่กับสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ อีกทั้ง บริษัทฯ มีสินทรัพย์ที่
อ้างอิงกับสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ คือ สต๊อกน้ำมัน มากกว่าหนี้สินในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ คือ เจ้าหนี้การค้า
ซึ่งหากอัตราแลกเปลี่ยนมีทิศทางที่แข็งค่าขึ้นก็จะส่งผลให้มูลค่าของสินทรัพย์สุทธิลดลง แต่หากอัตราแลกเปลี่ยน
มีทิศทางอ่อนค่าลงก็จะส่งผลให้มูลค่าของสินทรัพย์สุทธิเพิ่มขึ้นเช่นกัน แต่ทั้งนี้บริษัทฯ ก็มีนโยบายที่จะปรับสัดส่วน
สินทรัพย์และหนี้สินที่อยู่ในรูปสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ ให้อยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกันเมื่อมีความพร้อม โดยปัจจุบัน
บริษัทฯ ได้ดำเนินการทำประกันความเสี่ยงดังกล่าวโดยใช้เครื่องมือทางการเงินที่มีอยู่ในตลาดแล้วบางส่วน