คำอธิบายและการวิเคราะห์ของฝ่ายจัดการ สิ้นสุด 31 มีนาคม 2548

ที่ 1000 / 110 / 2548 19 พฤษภาคม 2548 เรื่อง คำอธิบายและการวิเคราะห์ของฝ่ายจัดการ สำหรับผลการดำเนินงานสำหรับปีสิ้นสุด วันที่ 31 มีนาคม 2548 เรียน กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สิ่งที่ส่งมาด้วย คำอธิบายและการวิเคราะห์ของฝ่ายจัดการ สำหรับผลการดำเนินงานสำหรับ ปีสิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2548 ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้สนับสนุนให้บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ มีการจัดทำคำอธิบายและการวิเคราะห์ของ ฝ่ายจัดการทุกไตรมาส เพื่อให้ผู้ลงทุนสามารถเข้าใจฐานะการเงินและผลการดำเนินงานของ บริษัทได้ดียิ่งขึ้นนอกเหนือจากข้อมูลตัวเลขในงบการเงิน อีกทั้งเพื่อให้ผู้ลงทุนได้มีข้อมูลที่เพียงพอ ต่อการตัดสินใจลงทุนในหลักทรัพย์ของบริษัท ตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี (GOOD GOVERNANCE) ในเรื่องการให้ความสำคัญต่อการเปิดเผยข้อมูล นั้น บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ในฐานะที่เป็นบริษัทจดทะเบียนหนึ่ง ในตลาดหลักทรัพย์ได้ให้ความสำคัญต่อการดำเนินกิจการอย่างโปร่งใสตามแนวนโยบายบรรษัทภิบาล จึงได้จัดทำและใคร่ขอนำส่งคำอธิบายและการวิเคราะห์ของฝ่ายจัดการ สำหรับผลการดำเนินงาน สำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2548 ดังรายละเอียดตามสิ่งที่ส่งมาด้วย จึงเรียนมาเพื่อทราบ ขอแสดงความนับถือ (นายปฏิภาณ สุคนธมาน) รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานด้านบัญชีและการเงิน สำนักแผนกิจการและนักลงทุนสัมพันธ์ โทร 0 -2335-4583 สำเนาเรียน ผู้อำนวยการฝ่ายจดทะเบียนหลักทรัพย์ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) คำอธิบายและการวิเคราะห์ของฝ่ายจัดการ ผลการดำเนินงานสำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2548 ข้อมูลทั่วไป บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2528 โดย รัฐบาล ฯพณฯ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ โดยมุ่งหมายให้ดำเนินการแบบเอกชน และเป็นบริษัทน้ำมันของคนไทยที่ดำเนินกิจการสอดคล้องกับประโยชน์ของคนไทยและสังคมไทย ปัจจุบันบริษัทฯ ประกอบธุรกิจจำหน่ายน้ำมันสำเร็จรูป ทั้งค้าปลีกและค้าส่ง และบริหารกิจการโรงกลั่นน้ำมันขนาด 120,000 บาเรลต่อวัน ซึ่งก่อสร้างใหม่ทดแทน หน่วยเดิม โดยหน่วยกลั่นล่าสุดแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2536 การออกแบบกระบวนการกลั่น เน้นการผลิตได้น้ำมันสะอาด ประหยัดพลังงาน และให้ผลผลิตสูง อีกทั้ง บริษัทฯ มีการขยายเครือข่ายสถานีบริการน้ำมันออกไปประมาณ 1,100 แห่ง ทั่วประเทศ โดยเป็นสถานีบริการน้ำมันขนาดใหญ่ประมาณ 600 แห่ง และปั๊มชุมชนขนาดเล็ก ประมาณ 500 แห่ง ภาพรวมธุรกิจไตรมาส 1 ปี 2548 สำหรับไตรมาส 1 ปี 2548 บริษัทฯ ดำเนินกิจการภายใต้การปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันในตลาดโลกอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งราคาน้ำมันเบนซินและดีเซลปรับตัวขึ้นสูงกว่าการปรับตัวขึ้นของน้ำมันดิบ ประกอบกับ บริษัทฯ ดำเนินกิจกรรมเพิ่มรายได้และลดต้นทุนร่วมกับบริษัทน้ำมันอื่นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ค่าการกลั่นปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นจากไตรมาสก่อน นอกจากนี้ จากการที่บริษัทฯ ได้เป็นผู้นำในการผลิตและจำหน่ายน้ำมันแก๊สโซฮอล์โดยมีสถานีบริการที่จำหน่ายมากกว่า 340 แห่งทั่วประเทศ ส่งผลให้ยอดจำหน่ายน้ำมันเบนซินรวมของบริษัทฯ ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นตรงข้ามกับการบริโภคน้ำมันเบนซินของทั้งประเทศที่ปรับตัวลดลงจากการ ปรับตัวสูงขึ้นของราคาน้ำมันเบนซิน ดังนั้น ส่วนแบ่งการตลาดสถานีบริการของบริษัทฯ จึงปรับตัวสูงขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม จากการที่บริษัทฯ มีการหยุดซ่อมแซมหน่วยกลั่นประจำปี ในช่วงไตรมาส 1 ส่งผลให้บริษัทฯ ต้องเน้นการจำหน่ายเฉพาะในตลาดที่มีกำไรสูงเท่านั้น 1. คำอธิบายและวิเคราะห์ผลการดำเนินงานสำหรับไตรมาส 1 ปี 2548 เปรียบเทียบไตรมาส 1 ปี 2547 1.1 การวิเคราะห์กำไรขาดทุน 1) ผลการดำเนินงานไตรมาส 1 ปี 2548 บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิรวม จำนวน 438 ล้านบาท ประกอบด้วยผลกำไรของบริษัท บางจากฯ จำนวน 438 ล้านบาท และผลกำไรของบริษัท บางจากกรีนเนท 24 ล้านบาท แต่หักกำไรระหว่างกัน 24 ล้านบาท 2) ผลการดำเนินงานบริษัท บางจากฯ มี EBITDA 750 ล้านบาท ต่ำกว่าปีก่อนที่อยู่ที่ 1,057 ล้านบาท อยู่ 307 ล้านบาท เป็นผลมาจากปัจจัยหลักดังต่อไปนี้ o EBITDA จากธุรกิจโรงกลั่น 876 ล้านบาท สูงกว่าปีก่อนที่อยู่ที่ระดับ 797 ล้านบาท เนื่องจากใน ไตรมาส 1 ปี 2548 บริษัทฯ มีค่าการกลั่นรวม 4.43 ดอลลาร์ สรอ.ต่อบาเรล แต่มีการใช้กำลังการผลิตเพียง 69 พันบาเรลต่อวัน เนื่องจากมีการหยุดซ่อมแซมหน่วยกลั่น ประจำปี EBITDAดังกล่าวส่วนหนึ่งเป็นกำไรจากสต๊อกน้ำมันจำนวน 678 ล้านบาท ซึ่งหากไม่รวมกำไรจากสต๊อกน้ำมันแล้ว ค่าการกลั่นจะอยู่ที่ระดับ 1.89 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาเรล และมี Adjusted EBITDA 198 ล้านบาท o EBITDA จากธุรกิจการตลาด -126 ล้านบาท ต่ำกว่าปีก่อนที่อยู่ที่ระดับ 259 ล้านบาท เนื่องจากในไตรมาส 1 ปี 2548 บริษัทฯ มีค่าการตลาด (ไม่รวมน้ำมันเครื่องบิน) อยู่ที่ระดับ 23 สตางค์ต่อลิตร ต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนที่อยู่ที่ระดับ 47 สตางค์ต่อลิตร ทั้งนี้เป็นผลมาจากการปรับราคาน้ำมันเบนซินขายปลีกทำได้ช้ากว่าต้นทุนที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่าง ต่อเนื่องตามราคาน้ำมันเบนซินที่สิงคโปร์ ประกอบกับมีการลดราคาขายน้ำมันแก๊สโซฮอล์ลง ให้ต่ำกว่าราคาน้ำมันเบนซิน 95 ปกติ 1.50 บาท เพื่อสร้างแรงจูงใจในการทดลองใช้มากขึ้น (แต่ทั้งนี้การลดราคาน้ำมัน แก๊สโซฮอล์ลงดังกล่าว ก็ส่งผลให้บริษัทฯ มียอดจำหน่ายน้ำมัน แก๊สโซฮอล์เพิ่มขึ้นกว่า 3.8 เท่าตัว) ซึ่งงคาดว่าการลดลงของค่าการตลาดดังกล่าว จะเกิดขึ้นชั่วคราวและน่าจะผ่อนคลายลงในระยะหลัง นอกจากนี้ บริษัทฯ มีผลขาดทุน จากการขายน้ำมันเครื่องบิน จำนวน 131 ล้านบาท หรือ 1.26 บาทต่อลิตร เนื่องจาก สูตรราคาขายน้ำมันเครื่องบิน จะใช้ราคาน้ำมันเครื่องบินเฉลี่ยเดือนก่อนหน้า ในขณะที่ต้นทุนขายที่ธุรกิจการตลาดซื้อจากธุรกิจโรงกลั่นเป็นราคาน้ำมันเครื่องบินในเดือน ส่งมอบนั้นๆ ส่งผลให้ในช่วงที่ราคาน้ำมันเครื่องบินมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น การจำหน่ายน้ำมัน เครื่องบินจะมีผลขาดทุน แต่ในทางกลับกันหากเป็นช่วงที่ราคาน้ำมันเครื่องบินเริ่มคงที่หรือ ลดลง บริษัทฯ ก็จะมีกำไรกลับมาเช่นกัน สำหรับปริมาณการจำหน่ายในตลาดบางจากเพิ่มขึ้นเป็น 58.6 พันบาเรลต่อวัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่อยู่ที่ระดับ 55.7 พันบาเรลต่อวัน 1.2 การวิเคราะห์รายได้ รายได้รวมของบริษัทฯ และบริษัทย่อยจำนวน 18,055 ล้านบาท ประกอบด้วย รายได้ของบริษัท บางจากฯ จำนวน 17,867 ล้านบาท และรายได้ของบริษัท บางจากกรีนเนท จำนวน 2,053 ล้านบาท ในรายได้ดังกล่าวเป็นรายการระหว่างกัน จำนวน 1,865 ล้านบาท โดยรายได้ของบริษัท บางจากฯ ที่มีการเปลี่ยนแปลงหลักคือ 1) รายได้จากการขายจำนวน 17,811 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อน 594 ล้านบาท เนื่องจากปริมาณการจำหน่ายน้ำมันสำเร็จรูปและน้ำมันดิบลดลงรวม 17.2% แต่ราคาขาย น้ำมันเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 18.1% (ราคาน้ำมันเฉลี่ย 12.51 บาท/ลิตร เทียบกับ 10.59 บาท/ลิตร) 2) กำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนจำนวน 5 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อน 28 ล้านบาท โดยเป็นกำไรอัตราแลกเปลี่ยนจากเจ้าหนี้การค้า 8 ล้านบาท และเป็นขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยน จากอื่นๆ 3 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลมาจากการแข็งค่าขึ้นของเงินบาทจาก 39.2 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. ณ สิ้นปี 2547 เป็นเฉลี่ย 38.7 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. ในไตรมาส 1 ปี 2547 3) ในไตรมาส 1 ปี 2548 มีการบันทึกกำไรจากบริษัทย่อยตามวิธีส่วนได้เสีย จำนวน 27 ล้านบาท 1.3 การวิเคราะห์ค่าใช้จ่าย ค่าใช้จ่ายรวมของบริษัทฯ และบริษัทย่อยจำนวน 17,622 ล้านบาท ประกอบด้วย ค่าใช้จ่ายของบริษัท บางจากฯ จำนวน 17,434 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายของบริษัท บางจากกรีนเนทจำนวน 2,028 ล้านบาท โดยค่าใช้จ่ายดังกล่าวเป็นรายการระหว่างกัน จำนวน 1,840 ล้านบาท โดยค่าใช้จ่ายของบริษัท บางจากฯ ที่มีการเปลี่ยนแปลงหลักคือ 1) ต้นทุนขายจำนวน 16,824 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อน 310 ล้านบาท เป็นผลมาจากปริมาณการจำหน่ายที่ลดลงเป็น 98.5 พันบาเรลต่อวัน จากระดับ 119.0 พันบาเรลต่อวันในช่วงเดียวกันปี 2547 แต่ราคาน้ำมันดิบได้ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยน้ำมันดิบดูไบปรับตัวสูงขึ้นเฉลี่ยประมาณ 7 ดอลลาร์ สรอ.ต่อบาเรล ในไตรมาส 1 ปี 2548 2) ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารจำนวน 374 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 84 ล้านบาท โดยค่าใช้จ่ายหลักที่เพิ่มขึ้น คือ ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับโครงการ Early Retirement ค่าโฆษณาและประชาสัมพันธ์ และค่าซ่อมบำรุงสถานีบริการ 3) บริษัทฯ มีดอกเบี้ยจ่าย 160 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อน 83 ล้านบาท เป็นผลจากการ Refinance หุ้นกู้เดิมส่วนใหญ่ด้วยเงินทุนใหม่ที่ได้จากการปรับโครงสร้าง การเงิน นอกจากนี้ บริษัทฯ มีดอกเบี้ยรับ 6 ล้านบาท ลดลง 2 ล้านบาท จากการที่บริษัทฯ ได้รับวงเงินกู้จากธนาคารพาณิชย์เพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนตามแผนการปรับโครงสร้าง การเงิน บริษัทฯ จึงไม่มีความจำเป็นต้องถือเงินสดเป็นจำนวนมากเพื่อเตรียมไว้ชำระค่าน้ำมันดิบ 2.คำอธิบายและการวิเคราะห์ฐานะการเงินสำหรับ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2547 เปรียบเทียบ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2546 2.1 สินทรัพย์ 1) สินทรัพย์รวม ณ สิ้นไตรมาส 1 ปี 2548 มีจำนวน 35,632 ล้านบาท ประกอบด้วยสินทรัพย์ของบริษัท จำนวน 35,541 ล้านบาท และบริษัท บางจากกรีนเนท จำนวน 683 ล้านบาท ในสินทรัพย์ดังกล่าวมีสินทรัพย์ระหว่างกันซึ่งเป็นบัญชีลูกหนี้ (บริษัทบางจากกรีนเนท) จำนวน 564 ล้านบาท ซึ่งบริษัทให้เครดิตประมาณ 15 วัน 2) สินทรัพย์รวมของบริษัท บางจากฯ ณ สิ้นไตรมาส 1 ปี 2548 เทียบกับ ณ สิ้นปี 2547 มีมูลค่าเพิ่มขึ้นจำนวน 1,272 ล้านบาท ประกอบด้วยสินทรัพย์หลักที่เปลี่ยนแปลงคือ o เงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดจำนวน 1,629 ล้านบาท ลดลง 266 ล้านบาท เมื่อเทียบกับ ณ สิ้นปี 2547 แต่ยังคงอยู่ในระดับสูง o ลูกหนี้และตั๋วเงินรับการค้าจำนวน 3,969 เพิ่มขึ้น 348 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับ ณ สิ้นปี 2547 เนื่องจากบริษัทฯ ได้เร่งยอดขายน้ำมันในช่วงเดือนมีนาคมเพื่อชดเชยยอดขายที่ลดลง ในช่วงหยุดซ่อมแซมโรงกลั่นประจำปี ประกอบกับราคาขายน้ำมันเฉลี่ยที่ปรับตัวสูงขึ้น o สินค้าคงเหลือรวมทั้งสิ้นเท่ากับ 11,309 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,363 ล้านบาท เนื่องจากปริมาณสินค้าคงเหลือที่เพิ่มขึ้น 36 ล้านลิตร เพื่อรองรับการเพิ่มปริมาณการกลั่นและจำหน่ายหลังจากการหยุดซ่อมบำรุงหน่วยกลั่นประจำปี ประกอบกับราคาเฉลี่ยก็ได้ปรับเพิ่มขึ้น 1.03 บาท/ ลิตร o เงินชดเชยกองทุนน้ำมันค้างรับจำนวนเงิน 1,303 ล้านบาท เป็นเงินชดเชย ค้างรับจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อตรึงราคาขายของน้ำมันสำเร็จรูป ณ สถานีบริการน้ำมัน ซึ่งปกติจะมีเทอมการจ่ายคืนประมาณ 45 วัน 2.2 หนี้สิน 1) หนี้สินรวม ณ สิ้นไตรมาส 1 ปี 2548 จำนวน 25,468 ล้านบาท ประกอบด้วยหนี้สิน ของบริษัทจำนวน 25,379 ล้านบาท และของบริษัทบางจากกรีนเนท จำนวน 655 ล้านบาท ซึ่งในหนี้สินของบริษัทบางจาก กรีนเนท เป็นหนี้ระหว่างกันกับบริษัท จำนวน 564 ล้านบาท 2) หนี้สินรวมของบริษัท บางจากฯ ณ สิ้นไตรมาส 1 ปี 2548 เทียบกับ ณ สิ้นปี 2547 มีมูลค่าเพิ่มขึ้น 890 ล้านบาท ประกอบด้วยหนี้สินหลักที่เปลี่ยนแปลงคือ o เงินกู้รวม ณ สิ้นไตรมาส 1 ปี 2548 เพิ่มขึ้น 557 ล้านบาท เมื่อเทียบกับ ณ สิ้นปี 2547 เป็นผลจากการเบิกเงินกู้ยืมระยะยาวเพิ่มขึ้น 700 ล้านบาทจากธนาคาร เพื่อใช้ชำระหนี้หุ้นกู้และตั๋วสัญญาใช้เงินที่ครบกำหนดชำระในช่วงไตรมาส 1 ปี 2548 จำนวน 1,165 ล้านบาท o ยอดเจ้าหนี้การค้า จำนวน 8,129 ล้านบาท เมื่อเทียบกับ ณ สิ้นปี 2547 เพิ่มขึ้น 546 ล้านบาท เนื่องจากราคาน้ำมันดิบได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นเฉลี่ยประมาณ 7 ดอลลาร์ สรอ.ต่อบาเรล 2.3 ส่วนของผู้ถือหุ้น 1) ส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ และบริษัทย่อย ณ สิ้นไตรมาส 1 ปี 2548 รวมจำนวน 10,163 ล้านบาท เป็นส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัท บางจากฯ จำนวน 10,163 ล้านบาท และเป็นส่วนของผู้ถือหุ้นส่วนน้อยจำนวน 0.5 ล้านบาท (ส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัทบางจาก กรีนเนทมีจำนวนรวม 28 ล้านบาท) 2) ส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัท บางจากฯ ณ สิ้นไตรมาส 1 ปี 2548 จำนวน 10,163 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 382 ล้านบาท จาก ณ สิ้นปี 2547 เนื่องจากบริษัทฯ มีผลกำไรสุทธิ ในไตรมาส 1 ปี 2548 จำนวน 438 ล้านบาท แต่หักลบกับส่วนเกินทุนจากการตีราคาทรัพย์สิน โรงกลั่นที่ลดลง 56 ล้านบาท 3.คำอธิบายและการวิเคราะห์งบกระแสเงินสด สำหรับไตรมาส 1 ปี 2548 เปรียบเทียบไตรมาส 1 ปี 2547 3.1 ในไตรมาส 1 ปี 2548 บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีกำไรจากการดำเนินงาน จำนวน 670 ล้านบาท เป็นกำไรจากการดำเนินงานของบริษัท บางจากฯ จำนวน 642 ล้านบาท และเป็นกำไรของบริษัท บางจากกรีนเนท จำนวน 28 ล้านบาท นอกจากนี้ บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีเงินสดต้นงวดยกมา 2,213 ล้านบาท เป็นเงินสดต้นงวดของบริษัท บางจากฯ จำนวน 1,894 ล้านบาท และเป็นเงินสดต้นงวดของบริษัท บางจากกรีนเนท จำนวน 319 ล้านบาท ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้ใช้เงินสดดังกล่าวในกิจกรรมของบริษัทฯ ระหว่างไตรมาสจำนวน 713 ล้านบาท โดยส่วนหนึ่งเป็นหนี้การค้าระหว่างกัน แต่ได้จัดหาเงินเพิ่มเติมเพื่อใช้ชำระคืนหุ้นกู้และตั๋วสัญญาใช้เงินที่ครบกำหนดชำระและเพื่อ ใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนจำนวน 557 ล้านบาท ส่งผลให้บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีเงินสดใช้ ไประหว่างไตรมาส 156 ล้านบาท ดังนั้น คงเหลือเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสด ณ สิ้นไตรมาส 1 ปี 2548 จำนวน 2,057 ล้านบาท โดยเป็นเงินสดของบริษัท บางจากฯ จำนวน 1,629 ล้านบาท และเป็นเงินสดของบริษัท บางจากกรีนเนท จำนวน 428 ล้านบาท 3.2 ในไตรมาส 1 ปี 2548 บริษัทฯ มีกำไรจากการดำเนินงานจำนวน 642 ล้านบาท และมีเงินสดต้นงวดจำนวน 1,894 ล้านบาท โดยบริษัทฯ ได้ใช้เงินสดดังกล่าวไปในกิจกรรม ดังต่อไปนี้ 1) บริษัทฯ มีเงินสดสุทธิที่ใช้ไปในกิจกรรมดำเนินงาน 772 ล้านบาท เนื่องจากบริษัทฯ มีมูลค่าลูกหนี้การค้าและน้ำมันคงคลังเพิ่มขึ้น 1,678 ล้านบาท จากปริมาณการเก็บสต๊อกน้ำมัน ที่เพิ่มขึ้นเพื่อรองรับปริมาณการกลั่นและจำหน่ายที่สูงขึ้นหลังจากการหยุดซ่อมแซมหน่วยกลั่นประจำปี ประกอบกับราคาน้ำมันก็ปรับเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง 2) บริษัทฯ มีเงินสดที่ใช้ไปในกิจกรรมลงทุนอีก 51 ล้านบาท จากการที่มีการลงทุนเพิ่ม ในสินทรัพย์ถาวร-อุปกรณ์ และสินทรัพย์ไม่หมุนเวียนอื่นๆ 3) บริษัทฯ มีเงินสดได้มาจากกิจกรรมจัดหาเงิน 557 ล้านบาท จากการเบิกเงินกู้ระยะยาว จำนวน 700 ล้านบาท เพื่อจ่ายคืนเงินกู้ที่ครบกำหนดชำระในไตรมาส 1 ปี 2548 จำนวน 1,165 ล้านบาท ประกอบกับมีการเบิกเงินกู้ระยะสั้นจากธนาคารเพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน ดังนั้น ณ สิ้นไตรมาส 1 ปี 2548 บริษัทฯ มีเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสด 1,629 ล้านบาท ลดลง 266 ล้านบาท เมื่อเทียบกับ ณ สิ้นปี 2547 4. ปัจจัยและอิทธิพลหลักที่อาจมีผลกระทบต่อการดำเนินงานหรือฐานะการเงินในอนาคต สำหรับธุรกิจน้ำมัน ปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อผลการดำเนินงานคือค่าการกลั่นและค่าการตลาด โดยในไตรมาส 1 ปี 2548 ระดับราคาน้ำมันเบนซินและดีเซลปรับตัวขึ้นสูงกว่าการปรับตัวขึ้น ของน้ำมันดิบ ส่งผลให้ค่าการกลั่นปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นจากไตรมาสก่อน แต่อย่างไรก็ตาม จากการที่ราคาน้ำมันได้ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นมาก ส่งผลให้การปรับราคาขายปลีกทำได้ล่าช้ากว่า ต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งน้ำมันเบนซินที่ปรับตัวขึ้นอย่างมากหลังจากรัฐประกาศ ลอยตัวราคา ซึ่งนอกจากจะทำให้มีค่าการตลาดที่ต่ำแล้วยังส่งผลต่อยอดการใช้น้ำมันเบนซิน ที่ปรับลดลงอีกด้วย นอกจากนี้ ระดับราคาน้ำมันก็ยังมีผลกระทบสำคัญต่อผลการดำเนินงานของบริษัทฯ โดยราคาน้ำมันได้ปรับตัวสูงขึ้นตั้งแต่ช่วงปลายปี 2546 เป็นต้นมา ซึ่งอาจมีความเป็นไปได้ว่าราคาน้ำมันอาจปรับตัวลดลงในบางช่วงของปี 2548 เนื่องจากมีการปรับฐานของระดับราคาเป็นครั้งคราว แต่บริษัทฯ คาดว่าระดับราคาน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปจะยังคงอยู่ในระดับที่สูง เนื่องจากความต้องการใช้น้ำมันยังมีอัตราการเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการปรับตัวลดลงของราคาน้ำมันดังกล่าวอาจส่งผลให้บริษัทฯ ได้รับผลกระทบจากมูลค่า สต๊อกน้ำมันที่ลดลง แต่บริษัทฯ ก็มีส่วนงานที่คอยติดตามและบริหารความเสี่ยงดังกล่าว อย่างใกล้ชิด แม้ว่าราคาน้ำมันจะปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ราคาน้ำมันเตา ที่ปรับตัวสูงขึ้นแต่ไม่มากเท่ากับราคาน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปชนิดอื่นๆ ส่งผลให้ค่า การกลั่นของบริษัทฯ ถูกจำกัดไว้ในระดับหนึ่ง แต่จากการที่บริษัทฯ ได้ดำเนินการส่ง น้ำมันเตาของบริษัทฯ ไปเพิ่มมูลค่าที่โรงกลั่นอื่นก็สามารถลดผลกระทบจากเหตุการณ์ ดังกล่าวได้บางส่วน ซึ่งบริษัทฯ มีความจำเป็นต้องจัดหาแนวทางการลดสัดส่วนการผ ลิตน้ำมันเตาในระยะยาว เพื่อเพิ่มค่าการกลั่นให้อยู่ในระดับที่ทัดเทียมกับอุตสาหกรรม โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการออกแบบของหน่วยปรับปรุงคุณภาพน้ำมันเตาเป็นน้ำมันใส ซึ่งจะลดสัดส่วนการผลิตน้ำมันเตาของบริษัทฯ ลงให้อยู่ในระดับใกล้เคียงกับโรงกลั่นอื่นๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ อีกทั้งยังเพิ่มคุณภาพน้ำมันให้สอดคล้องกับมาตรฐาน คุณภาพน้ำมันใหม่ที่รัฐจะประกาศใช้ในปี 2554 จากการผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน ก็อาจส่งผลกระทบต่อผลการดำเนินงาน ของบริษัทฯ เช่นกัน เนื่องจากราคาซื้อขายน้ำมัน จะอิงอยู่กับสกุลเงินดอลลาร์ สรอ. รวมทั้ง บริษัทฯ มีสินทรัพย์ที่อ้างอิงกับสกุลเงินดอลลาร์ สรอ. คือ สต๊อกน้ำมัน มากกว่า หนี้สินในสกุลเงินดอลลาร์ สรอ. คือ เจ้าหนี้การค้า ซึ่งหากอัตราแลกเปลี่ยน มีทิศทางที่แข็งค่าขึ้นก็จะส่งผลให้มูลค่าของสินทรัพย์สุทธิลดลง แต่หากอัตราแลกเปลี่ยน มีทิศทางอ่อนค่าลงก็จะส่งผลให้มูลค่าของสินทรัพย์สุทธิเพิ่มขึ้นเช่นกัน แต่ทั้งนี้บริษัทฯ ก็มีนโยบายที่จะปรับสัดส่วนสินทรัพย์และหนี้สินที่อยู่ในรูปสกุลเงินดอลลาร์ สรอ. ให้อยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกันเมื่อมีความพร้อม โดยปัจจุบันบริษัทฯ ได้ดำเนินการทำประกัน ความเสี่ยงดังกล่าวโดยใช้เครื่องมือทางการเงินที่มีอยู่ในตลาดแล้วบางส่วน