Executive Talk ครั้งนี้เราได้รับเกียรติจาก

คุณภัทร์ภูรี ชินกุลกิจนิวัฒน์

รองกรรมการผู้จัดการใหญ่กลุ่มงานบัญชีและการเงิน (CFO)

คุณภัทร์ภูรี ชินกุลกิจนิวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงิน และรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มงานบัญชีและการเงิน ได้ให้เกียรติให้สัมภาษณ์ในรายการ Money Talk รายการสาระทางเศรษฐกิจ การเงิน และตลาดหุ้น เมื่อวันที่ 28 ธันวาคมที่ผ่านมา

Executive Talk ครั้งนี้ ได้นำบทสัมภาษณ์บางส่วนจากรายการ Money Talk ที่คุณภัทร์ภูรี หรือคุณเต้ย CFO ของพวกเรา ได้เล่าถึงการเติบโตของกลุ่มบางจากในช่วงที่ผ่านมา รวมถึงความพร้อมในการก้าวสู่ปีที่ 40 ของการดำเนินธุรกิจ มาให้ได้ติดตามกันค่ะ

บางจากฯ มีการเติบโตค่อนข้างก้าวกระโดดในช่วง 3-4 ปีมานี้ อยากให้คุณเต้ยช่วยเล่าถึงการเปลี่ยนแปลงเชิงกลยุทธ์ที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมาค่ะ

อย่างที่ทราบกันว่ากระแสเรื่องของ Energy Transition มีมาอยู่พักหนึ่งแล้ว เดิมทีบางจากเรามีแค่โรงกลั่นและสถานีบริการ แต่จะเห็นว่าตั้งแต่ปี 2019 เราได้มีการกระจายเงินลงทุน ขยาย portfolio ไปยังธุรกิจอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจไฟฟ้าพลังงานสะอาด ธุรกิจผลิตภัณฑ์ชีวภาพ รวมถึงการลงทุนในธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม (E&P) ผ่านการมองหา partner ที่จะเข้าไปร่วมกัน operate และพัฒนาธุรกิจให้เติบโต แม้แต่ในช่วงการระบาดของ COVID-19 เอง บางจากฯ ก็ยังมีการเติม resources เข้าไปเพิ่ม อย่างธุรกิจ E&P ที่เราลงทุนในบริษัท OKEA ที่ประเทศนอร์เวย์ ซึ่งใน 2-3 ปีที่ผ่านมา มีการเติบโตในแง่ของกำลังการผลิตเป็นเท่าตัวมาตลอด

รวมถึงในปีที่ผ่านมา ที่เราได้ซื้อธุรกิจของเอสโซ่ (ประเทศไทย) ซึ่งปัจจุบันได้เปลี่ยนชื่อเป็น บางจาก ศรีราชา (BSRC) ทำให้กำลังการกลั่นของเราจากเดิมอยู่ที่ 120 KBD เติบโตขึ้นเป็นเกือบ 300 KBD นอกจากนี้เรายังได้เครือข่ายของสถานีบริการ ทำให้ปัจจุบันเรามีเครือข่ายกว่า 2,000 แห่ง ครอบคลุมทั่วประเทศ

ในฐานะหนึ่งในผู้นำการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน ในปีนี้ บางจากฯ มีโครงการอะไรบ้างที่ตอบโจทย์เรื่องนี้?

นอกจากการลงทุนในธุรกิจไฟฟ้าพลังงานสะอาดผ่านบริษัทย่อยของเรา คือ BCPG แล้ว ในส่วนของสถานีบริการเราก็ยังมีแผนที่จะเพิ่ม infrastructure เพื่อตอบโจทย์การใช้รถยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่เพิ่มมากขึ้น ปัจจุบันสถานีบริการของบางจากมีการติดตั้ง EV Charger แล้ว 200 กว่าสถานี

ถ้ามองในวันนี้ ยังมีหลายๆ อุตสาหกรรมที่ยังไม่สามารถเปลี่ยนไปใช้แบตเตอรี่ได้ หนึ่งในนั้น ได้แก่ อุตสาหกรรมการบิน ซึ่งเป็นธุรกิจที่มี carbon emission สูงมาก บางจากฯ เรามีการ allocate เงินลงทุนก้อนหนึ่ง ประมาณ 10,000 ล้านบาท ไปลงทุนใน SAF หรือน้ำมันอากาศยานยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel) เป็นการนำเอาน้ำมันพืชใช้แล้วมาผลิตเป็นน้ำมันเครื่องบิน วางแผนจะเริ่มผลิตภายในปี 2024 นี้ ซึ่งเราเป็นเจ้าแรกในประเทศไทย และเป็นรายที่ 2 ใน Asia Pacific ประกอบกับ EU ได้มีข้อกำหนดออกมาแล้วว่า ในปี 2025 เครื่องบินที่บินเข้ายุโรปจะต้องมีสัดส่วนการเติม SAF อย่างน้อย 2% และจะทยอยเพิ่มขึ้นเป็น 70% ในปี 2050 ดังนั้นหน่วยผลิต SAF ก็จะเป็นอีกหนึ่ง unit ที่จะเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับ Energy Transition ของบางจากฯ ที่ไม่จำเป็นต้องอยู่ในรูปแบบของไฟฟ้าอย่างเดียว

บางจากฯ มีการเตรียมความพร้อมอย่างไรบ้าง เพื่อรับมือกับความผันผวนจากปัจจัยภายนอก ไม่ว่าจะเป็นภาวะเศรษฐกิจ อัตราแลกเปลี่ยน รวมถึงปัจจัยทางภูมิรัฐศาสตร์ต่างๆ ที่ไม่เอื้ออำนวยกับธุรกิจ

อย่างที่ทราบกันดีว่า ราคาน้ำมันและค่าการกลั่นมีความผันผวนมาก สิ่งที่บางจากฯ เราเตรียมความพร้อมอยู่เสมอคือเรื่องฐานะทางการเงินของบริษัทที่จะสามารถรองรับกับสถานการณ์ที่ผันผวนเหล่านี้ได้ หลังจากที่เราเข้าซื้อกิจการเอสโซ่ (ประเทศไทย) ซึ่งเป็นการลงทุนที่มีขนาดค่อนข้างใหญ่ ใช้เงินลงทุนประมาณ 26,000 ล้านบาท โดยเราใช้เงินสดของตัวเองค่อนข้างเยอะ ใช้เงินกู้แค่ประมาณ 8,000 ล้านบาท จะเห็นว่าเราค่อนข้างระมัดระวังในเรื่องของการก่อหนี้โดยไม่จำเป็น เรามีการ monitor สัดส่วนการก่อหนี้ต่อเนื่อง หลังจากปิดดีลนี้ Net Debt to Equity ของบางจากฯ ถือว่ายัง healthy อยู่ในระดับต่ำกว่า 1 ในขณะเดียวกัน Net Debt to EBITDA ก็อยู่ที่ประมาณ 2 เท่า ซึ่งมาจากการที่เราได้มีการเตรียมความพร้อม มีการทำ sensitivity ว่าถ้าบางจากฯ จะขยายต่อไปข้างหน้า ภายใต้ความผันผวนแบบนี้ ฐานะการเงินแบบนี้ เรารองรับได้หรือไม่ นอกจากนี้ อีกสิ่งหนึ่งที่เรามีการพูดคุยและดำเนินการกันมาตลอด คือเรามีการ revisit การลงทุนต่างๆ ที่เราลงไป และมีการตัดสินใจที่จะ exit หรือขายเงินลงทุน กรณีที่เราเห็นว่าสามารถนำไปลงทุนในธุรกิจอื่นที่ให้ผลตอบแทนดีกว่า ก็เป็นกลยุทธ์ในการบริหารจัดการเงินลงทุนที่เราได้มีการ monitor และทำมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้เราได้ headroom ในการลงทุนต่อไปในอนาคตข้างหน้า

บางจากฯ มีการตั้งเป้า EBITDA โตจาก 4 หมื่นล้าน เป็น 1 แสนล้านบาท ในปี 2030 อยากให้คุณเต้ยในฐานะ CFO ช่วยเล่าให้ฟังค่ะ ว่าการเติบโตจะมาจากวิธีไหน มองภาพแต่ละธุรกิจไว้อย่างไรบ้าง

ก่อนอื่นอยากจะแชร์ภาพแผนการลงทุนในธุรกิจหลักๆของเราเป็นแบบนี้ค่ะ กลุ่มแรก allocate ไว้ในสัดส่วน 1/3 จะไปลงในธุรกิจโรงกลั่นและธุรกิจการตลาด โดยหลังจากเราปิดดีลของ BSRC สำเร็จแล้ว ใน 1 ปีต่อจากนี้ เราจะ focus ที่ synergy ที่จะเกิดขึ้นหลังจากรวมกัน 1+1 เมื่อรวมกันแล้วต้องมากกว่า 2 ชึ่งส่วนนี้เราตั้งเป้า EBITDA ของกลุ่มเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 3,000 ล้านบาทต่อปี

กลุ่มที่ 2 คือธุรกิจ E&P เรามีการปันส่วนเงินลงทุนไว้สัดส่วนราว 1/3 เช่นกัน ซึ่ง growth engine ของเราจะมาจากธุรกิจของ OKEA ที่นอร์เวย์ ซึ่งจะมีการลงทุน M&A ต่างๆ ต่อเนื่อง และอีกส่วนหนึ่งจะเป็นการมองหาโอกาสเพิ่มเติมในพื้นที่ Asia Pacific

และอีก 1/3 จะเป็นการลงทุนในกลุ่มของพลังงานสีเขียว เพื่อตอบโจทย์เรื่อง Energy Transition

การที่ EBITDA จะโตได้ เป็น combination ที่มาจากทั้ง Organic และ Inorganic อย่าง Organic ที่อยู่ใน pipeline เราเลยก็คือ การสร้าง synergy จากดีลเอสโซ่ หรือ BSRC ให้เกิดขึ้น ถัดมาจะเป็น SAF ที่เรามีข้อได้เปรียบจากการเป็น first mover และมี high demand จากสายการบินพอสมควร ในขณะที่การเติบโตแบบ Inorganic ก็จะมาจากการ M&A อย่างธุรกิจพลังงานสะอาดของ BCPG ที่จะต้องมีการมองหา portfolio ที่จะไปลงทุนต่อ และธุรกิจ E&P จากทาง OKEA รวมถึงบางจากฯ เองก็จะมองหาโอกาสในการลงทุนธุรกิจต้นน้ำเพิ่มเติมด้วยค่ะ

รับชมการสัมภาษณ์รายการ Money Talk “ควบรวม แตกหน่อ ต่อยอด การเติบโตก้าวใหญ่ของ BCP” ได้ 2 ช่องทาง ดังนี้

Facebook - MoneyTalkTV : https://fb.watch/pcwFAgzOfr/

YouTube - MoneyTalkChannel : https://youtu.be/VMwqXYnLOSs


คุณภัทร์ภูรี ชินกุลกิจนิวัฒน์

รองกรรมการผู้จัดการใหญ่กลุ่มงานบัญชีและการเงิน (CFO)