Executive Talk ครั้งนี้เราได้รับเกียรติจาก

คุณภัทร์ภูรี ชินกุลกิจนิวัฒน์

รองกรรมการผู้จัดการใหญ่กลุ่มงานบัญชีและการเงิน (CFO)

คุณภัทร์ภูรี ชินกุลกิจนิวัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มงานบัญชีและการเงิน บมจ. บางจาก คอร์ปอเรชั่น ได้ให้เกียรติเข้าร่วมงาน International Women’s Day #EmbraceEquity ซึ่งจัดโดย Citi Thailand Women’s Network ณ โรงแรมเดอะ เวสทิน แกรนด์ สุขุมวิท เมื่อวันที่ 16 มีนาคมที่ผ่านมา

Executive Talk ของเราครั้งนี้ชวนมาดูวิสัยทัศย์ของคุณภัทร์ภูรี เกี่ยวกับเรื่องการเปิดรับความเสมอภาคและความหลากหลายในองค์กรกันค่ะ

ทางองค์กรมีนโยบายหรือแนวทางปฏิบัติที่จะส่งเสริม DE&I (Diversity, Equity, and Inclusion) อย่างไรบ้าง?

ที่บางจากฯ เรานำเอา Framework ของ UN ในการเคารพสิทธิมนุษยชน และ Women Empowerment เราได้มีการร่วมข้อตกลงในการผลักดันศักยภาพของผู้หญิงอย่างชัดเจน และจากการที่เราอยู่ในธุรกิจพลังงาน เราจึงมีกรอบความคิดที่ว่าแหล่งพลังงานที่หลากหลาย นำมาซึ่งความมั่นคงด้านพลังงาน และพนักงานที่หลากหลาย จะนำมาซึ่งความแข็งแกร่งขององค์กร พอเรามีภาพอย่างนี้ในแนวทางปฏิบัติ เราต้องดูความเสมอภาค อย่างเช่นในเรื่องของพนักงาน เราให้ความเท่าเทียมตั้งแต่เรื่องการสรรหา การปรับระดับ การรับฟังเสียง รับฟังความคิดเห็นของทีม หรือกระทั่งสถานที่ทำงานเราก็ต้องจัดให้อย่างเท่าเทียม ซึ่งเรื่องเหล่านี้เป็นสิ่งที่เราดำเนินการอย่างต่อเนื่องเสมอมา อีกเรื่องที่เราให้ความสำคัญมากๆ คือเราจะมีการทำ Employee Engagement Strategy ด้วย เราเชื่อว่าถ้าพนักงานเรามีความสุข จะเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญขององค์กร

ปีที่ผ่านมาเราตั้งปณิธานให้องค์กรเรายั่งยืน 100 ปี นั่นหมายความว่าพนักงานก็ต้องมีความสุข 100X ด้วยเช่นกัน อีกทั้งบางจากได้รับรางวัล Top 50 ขององค์กรที่คนรุ่นใหม่อยากทำงานด้วย พอเราย้อนกลับมาดูว่าเราทำอะไรกันบ้างก็พบว่าหลายๆ เรื่อง เรามักจะฟังเสียงพนักงานแล้วถามว่าพนักงานต้องการอะไร เราสามารถให้ผลดีกลับไปได้ทั้งพนักงานและทั้งองค์กรด้วยค่ะ

ในฐานะผู้บริหารระดับสูง มีวิธีปฏิบัติหรือเทคนิคอย่างไรในการปฏิบัติตามแนวทางภาวะผู้นำที่สามารถหลอมรวมคนให้ทำงานร่วมกันได้ด้วยความเคารพ และให้เกียรติกันและกัน (Inclusive Leadership)
อันดับแรกเราเข้าใจว่า คนทุกคนต่างมีความมีลักษณะเฉพาะ (Uniqueness) มีความแตกต่าง เพศสภาพ วัย ประสบการณ์ทำงาน ประสบการณ์ชีวิต รวมทั้งมีความสามารถ มีจุดแข็งที่ต่างกัน บางคนคิดเร็ว ทำเร็ว อาจจะไม่ค่อยละเอียด บางคน คิดช้า ไตร่ตรองถ้วนถี่ งานมักไม่ผิดพลาด บางคนบุคลิกแปลก พูดไม่ค่อยรู้เรื่องแต่มีความคิดสร้างสรรค์ดีมาก รูปร่างหน้าตา ลักษณะภายนอกอาจจะไม่ได้บ่งบอกความสามารถหรือจุดแข็งที่แต่ละคนมี หน้าที่ของเราคือหาจุดแข็งของแต่ละคน และพยายามนำจุดแข็งเหล่านั้นมาทำให้ทีมแข็งแกร่ง แต่ต้องไม่ลืมว่า ในความแตกต่างของแต่ละคนนั้น สิ่งที่ทุกคนมีเหมือนกันคือ ความต้องการเป็นส่วนหนึ่งที่มีคุณค่าของทีมและขององค์กร ตรงนี้สำคัญมาก สิ่งที่เราต้องทำคือต้องสื่อสาร รับฟัง แล้วก็เชื่อมโยง และให้เวลากับเค้า เราก็จะสามารถรวมทีมที่แข็งแกร่งขึ้นมาได้ และอีกอย่างที่สำคัญคือต้องไม่ลืมที่จะชื่นชม หากเราเห็นจุดแข็งหรือสิ่งดีๆ เพื่อให้น้องๆ ในทีมของเรารู้สึกมีคุณค่า ซึ่งการเอ่ยชมนี้ จะเป็นการสร้างทีมขึ้นมาได้โดยปริยายค่ะ
คุณคิดว่าอะไรเป็นความท้าทายในการส่งเสริม DE&I และอะไรเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยส่งเสริมให้ทุกคนเห็น ความสำคัญของ DE&I และเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น?
มองจากมุมของตัวเอง คือ การที่เรามุ่งงาน มุ่งผลลัพธ์ของงานเป็นหลัก เรารีบ เรายุ่ง เราไม่มีเวลาจะสนใจเพื่อนร่วมงาน ไม่ได้เรียนรู้ ไม่ได้ทำความเข้าใจกันอย่างแท้จริง ทำให้มีแนวโน้มจะด่วนสรุปคนอื่น ซึ่งทำให้เราไม่สามารถรับรู้ความแตกต่างและจุดแข็งของแต่ละคนได้ อันนี้เป็นความท้าทายที่สำคัญนะคะ คิดว่าปัจจัยสำคัญที่จะส่งเสริม DE&I ได้ก็คือ เราควรสร้างสภาพแวดล้อมที่ทุกคนรู้สึกปลอดภัย ที่จะเป็นตัวของตัวเอง ให้คนสามารถที่จะแสดงความแตกต่าง โดยไม่ถูกตัดสิน และมีความรู้สึกเป็นคนในไม่ใช่คนนอก สร้าง Culture ขององค์กรที่เปิดโอกาสให้ทุกคนมีส่วนร่วม รู้จักกันมากขึ้น สามารถแสดงออกถึงความเห็นอกเห็นใจกัน และสร้างการตื่นรู้ (Awareness) ให้เราไม่ด่วนสรุป ไม่ด่วนตัดสินคนเพียงเพราะเค้าแตกต่างจากเรา เพื่อให้เกิดการตระหนักว่าเราควรปฏิบัติกับคนอื่นเหมือนที่เราต้องการให้คนอื่นปฏิบัติกับเราค่ะ

คุณภัทร์ภูรี ชินกุลกิจนิวัฒน์

รองกรรมการผู้จัดการใหญ่กลุ่มงานบัญชีและการเงิน (CFO)