ธุรกิจผลิตภัณฑ์ชีวภาพ บทบาทสำคัญในกลุ่มธุรกิจบางจาก
Executive Talk ครั้งนี้เราได้รับเกียรติจาก
คุณกิตติพงศ์ ลิ่มสุวรรณโรจน์
รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปฏิบัติหน้าที่ที่บริษัท บีบีจีไอ จำกัด (มหาชน) (BBGI)
- ธุรกิจผลิตภัณฑ์ชีวภาพมีบทบาทอย่างไรกับกลุ่มบริษัท บางจากฯ บ้างคะ?
- แนวทางในการดำเนินธุรกิจผลิตภัณฑ์ชีวภาพ มาจากการที่บางจากฯ เล็งเห็นความสำคัญของการทำธุรกิจอย่างยั่งยืนและสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับผู้บริโภค มีความมุ่งมั่นที่จะใช้เทคโนโลยีมาช่วยสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ชีวภาพที่ตอบโจทย์ของผู้บริโภค ไม่ว่าจะเป็นส่วนของเชื้อเพลิงชีวภาพที่เราดำเนินธุรกิจอยู่ในปัจจุบัน หรือการต่อยอดผลิตภัณฑ์ชีวภาพไปสู่สินค้ามูลค่าเพิ่ม ซึ่งจะช่วยประเทศในเรื่องของการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตรซึ่งเป็นความเข้มแข็งเดิมของประเทศ นอกจากนี้แนวทางดังกล่าวยังส่งผลต่อการพัฒนาองค์ความรู้จากการทำงานร่วมกับหน่วยงานวิจัยทั้งของภาครัฐ ภาคเอกชนและมหาวิทยาลัยด้วยกัน เพื่อต่อยอดองค์ความรู้ดังกล่าวสู่การสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ชีวภาพมูลค่าสูง และมีบทบาทต่อการพัฒนาเทคโนโลยีให้สามารถเติบโตในระดับอุตสาหกรรมอีกทั้งยังเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศอีกด้วยครับ
- คุณกิตติพงศ์ช่วยพูดถึงแนวโน้มของธุรกิจไบโอดีเซล และเอทานอล ในปี 2564 นี้ให้เราฟังหน่อยได้ไหมคะ?
-
สำหรับธุรกิจไบโอดีเซลได้เติบโตบนพื้นฐานเพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงานและสนับสนุนการใช้น้ำมันปาล์มจากภาคการเกษตรของประเทศ โดยมีนโยบายของภาครัฐเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรม ซึ่งมีปัจจัยที่เป็นตัวขับเคลื่อนอุตสาหกรรมนี้ในประเทศ ได้แก่
- สัดส่วนการผสมไบโอดีเซลในน้ำมันดีเซล ซึ่งภาครัฐได้มีการประกาศใช้ B10 เป็นพื้นฐานแล้วในปี 2564
- ปริมาณความต้องการใช้น้ำมันดีเซลของประเทศ ถึงแม้ว่าในระยะสั้นความต้องการใช้น้ำมันดีเซลของประเทศจะชะลอตัวลงเนื่องจากสถานการ์ณการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อ COVID–19 และในระยะยาวยังมีแนวโน้มที่ธุรกิจ EV (Electric Vehicle) จะเข้ามาทดแทนในอีก 10 - 20 ปีข้างหน้า แต่น้ำมันดีเซลก็ยังคงเป็นน้ำมันพื้นฐานและมีความจำเป็นในภาคการขนส่งของประเทศ
อย่างไรก็ตาม BBGI ได้มีการเตรียมความพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงที่อาจจะเกิดขึ้น โดยในระยะสั้น ได้มีการปรับปรุง Efficiency ของการผลิตรวมถึงมีระบบการบริหารต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันและได้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่มีมูลค่าเพิ่มซึ่งใช้น้ำมันปาล์มเป็นวัตถุดิบ โดยบริษัทฯ ได้มีการลงทุนโรงงาน Refined Glycerin เพื่อเพิ่มมูลค่าของ by product ของการผลิต B100 ซึ่งโรงงานได้เริ่มทำการผลิตเชิงพาณิชย์แล้วตั้งแต่ มกราคม 2564 นอกจากนี้ BBGI ยังมีความร่วมมือกับหลายภาคส่วนในการพัฒนาสินค้ามูลค่าสูงที่ต่อยอดจากอุตสาหกรรมไบโอดีเซล
สำหรับธุรกิจเอทานอลในปี 2564 จะได้รับผลกระทบจาก 2 ปัจจัยนะครับ ได้แก่
- ราคาวัตถุดิบที่ปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากปริมาณอ้อยเข้าหีบได้มีการลดลงอย่างมากที่สุดในรอบ 10 ปี โดยมีอ้อยเข้าหีบเพียง 66 ล้านตัน (จากเดิมปี 2563 ปริมาณอยู่ที่ 75 ล้านตัน) ทำให้ปริมาณกากน้ำตาลที่ได้ลดลงไปด้วย ส่งผลให้กากน้ำตาลมีราคาแพงมากที่สุดในรอบ 10 ปี นอกจากนี้ยังส่งผลให้ราคาเอทานอลปีนี้สูงขึ้นตามไปด้วย
- ผลกระทบจากสถานการ์ณการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อ COVID–19 ที่ทำให้ความต้องการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงต่ำลงในช่วงเดือนมกราคม และคาดว่าจะต่ำลงเช่นกันในเดือน พ.ค.
อย่างไรก็ตาม BBGI ได้ทำการบริหารจัดการกับทั้ง 2 ปัจจัยแล้ว ในส่วนของเรื่องวัตถุดิบ บริษัทฯ ได้ทำการเตรียมการสะสมวัตถุดิบกากน้ำตาลที่มีราคาถูกมาตั้งแต่ปีที่แล้วทำให้ในปีนี้เราสามารถจัดหาวัตถุดิบได้อย่างเพียงพอและมีราคาที่ดีกว่าราคาซื้อขายวัตถุดิบในปีนี้ สำหรับปริมาณการใช้ที่ลดต่ำลงทาง บริษัทฯ ได้มีการบริหารปรับเปลี่ยนแผนการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการ โดยได้เลื่อนแผนหยุดซ่อมบำรุงเครื่องจักรจากเดือน ธ.ค.ขึ้นมาเดือน พ.ค. อีกทั้งตอนนี้เริ่มมีความต้องการเอทานอลเกรดพิเศษเพิ่มขึ้นมาเพื่อไปใช้เป็นผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของของโรคติดเชื้อ COVID–19 คาดว่าผลการดำเนินงานโดยรวมของเอทานอลจะยังดีอยู่ แม้จะย่อตัวจากปีที่แล้วเล็กน้อยครับ
- มองว่า “นวัตกรรม” จะเข้ามามีบทบาทเพิ่มขึ้นกับธุรกิจผลิตภัณฑ์ชีวภาพ (Bio-based products) ของกลุ่มบริษัทอย่างไรต่อไปคะ?
- นวัตกรรมมีส่วนในการพัฒนากระบวนการความรู้เทคโนโลยีและการผลิต ซึ่ง BBGI ได้นำแนวทางทั้งหมดนี้มาปรับใช้กับทั้ง Existing Business และธุรกิจใหม่ จะเห็นได้จากการที่ BBGI นั้นเกิดจากการร่วมทุนระหว่างบริษัท บางจาก และบริษัท น้ำตาลขอนแก่น (KSL) ซึ่งมีความตั้งใจในการพัฒนาให้เกิดธุรกิจใหม่ที่เป็น High Value Bio-Based Business โดยการใช้นวัตกรรมสมัยใหม่เข้ามาพัฒนาองค์ความรู้และต่อยอดนวัตกรรมของกลุ่มบริษัทจนสามารถได้ธุรกิจใหม่หรือสินค้าใหม่ที่จะสามารถผลิตได้ในระดับอุตสาหกรรม นอกจากนี้ยังมีความร่วมมือกับพันธมิตร ที่บริษัทฯ ได้ร่วมลงทุนให้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีชั้นนำมาสู่ประเทศไทย ซึ่งจะส่งผลต่อการเติบโตของบริษัทและการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศด้วยครับ
- ช่วงที่ผ่านมาทาง BBGI ได้ดำเนินการไปแล้วอย่างไรบ้างคะ?
- เราเริ่มการลงทุนในบริษัท Start up ที่เกี่ยวข้องกับนวัตกรรมใหม่ๆ รวมทั้งการลงทุนในบริษัทที่มีการพัฒนาเทคโนโลยีทางด้าน Synthetic Biology หรือ SynBio เพื่อสร้างองค์ความรู้ เทคโนโลยีและการผลิตที่เกิดขึ้นจริงจากการใช้เทคโนโลยีดังกล่าว เช่น การลงทุนของ BBGI ในบริษัท Manus Bio ที่สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นผู้นำทางด้าน Synbio ระดับโลก โดยใช้เทคโนโลยีชีวภาพในการผลิตผลิตภัณฑ์ชีวภาพที่มีราคาแพง เช่น สินค้าพวก Flavor & Fragrance และสารให้ความหวานแทนน้ำตาลสำหรับการอุปโภคและบริโภค นอกจากนี้ยังได้รับความร่วมมือกับหน่วยงานวิจัยของภาครัฐ มหาวิทยาลัย เพื่อต่อยอดเทคโนโลยีให้เติบโตจนเป็นธุรกิจในเชิงพาณิชย์ขณะเดียวกันทาง BBGI ได้เริ่มดำเนินการด้านการตลาดเพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์และจำหน่ายผลิตภัณฑ์กลุ่ม SynBio ที่เป็น Modern biotechnology ให้เป็นที่รู้จักของผู้ประกอบการและผู้บริโภคในประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
- ตามที่ทาง BBGI ได้เริ่มเข้าไปลงทุนเกี่ยวกับธุรกิจ SynBio Technology แล้ว ช่วยเราให้เล่าฟังถึงที่มาที่ไป และแผนต่อไปในอนาคตได้ไหมคะ?
-
ธุรกิจ SynBio Technology ของ BBGI มีที่มาจากแผนยุทธศาสตร์องค์กรที่ BBGI มุ่งสู่การผลิตสินค้าที่เป็นผลิตภัณฑ์ชีวภาพมูลค่าสูงที่ส่งเสริมสุขภาพและการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้บริโภค ซึ่งได้วางแผนต่อเนื่องสู่การผลิตผลิตภัณฑ์ชีวภาพในกลุ่มผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและสารชีวภาพอื่นๆที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
โดยบริษัท Manus Bio จำกัด ที่เป็นผู้นำด้าน Synbio ระดับโลก และบริษัท บีบีจีไอ จำกัด (มหาชน) ได้มีการวางแผนการสร้างโรงงาน SynBio ในประเทศไทย ซึ่งถือว่าจะเป็นโรงงานที่ผลิตผลิตภัณฑ์ชีวภาพแห่งแรกในประเทศไทยที่ใช้ SynBio Technology Platform ภายใต้การดำเนินงานของบริษัท WIN Ingredients จำกัด โดยนำนวัตกรรมทางด้านเทคโนโลยี SynBio จาก Manus Bio และความชำนาญด้านเทคโนโลยีชีวภาพ จาก BBGI ทั้งนี้ BBGI และ Manus Bio ได้มีข้อตกลงหลังจากจัดตั้งบริษัทร่วมทุนร่วมกันในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2563 ในการดำเนินธุรกิจส่วนการตลาดและการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ให้ความหวาน เช่น Reb M เพื่อใช้ข้อมูลจากการทำการตลาดและการจัดจำหน่ายเข้ามาประกอบการพิจารณาขนาดและกำลังการผลิตของโรงงาน โดยในส่วนของกำลังการผลิตนั้น ทั้งสองบริษัทได้มีการวางแผนเพื่อรองรับการผลิตผลิตภัณฑ์ชีวภาพชนิดต่างๆในอนาคต ตามแผนกลยุทธ์เพิ่มเติมด้วย รายละเอียดเกี่ยวกับการก่อสร้างโรงงานจะประกาศให้ทราบถึงแผนการก่อสร้างโรงงานอีกครั้งประมาณกลางปี 2565 ครับ
นอกจากนี้ BBGI ได้ขยายแผนการทำธุรกิจผลิตภัณฑ์ชีวภาพมูลค่าสูงอื่นๆ ซึ่งนำไปสู่การทำงานร่วมกับนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยที่มีการคิดค้น Synbio Technology ในการผลิตผลิตภัณฑ์ชีวภาพที่สามารถสลายสารฆ่าแมลงในผักและผลไม้ และสามารถนำมาใช้ได้ทั้งภาคครัวเรือนและภาคอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นแนวทางเพื่อการมีคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้บริโภคอีกด้วยครับ
- ตามที่เรามีแผนจะนำ BBGI เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ มีความคืบหน้าอย่างไรบ้างคะ?
- ปัจจุบัน BBGI อยู่ระหว่างการเตรียมการยื่นร่างหนังสือชี้ชวน (Filing) โดยมีแผนจะยื่น Filing ในช่วงไตรมาสที่ 3/2564 และคาดว่าจะเสนอขายหุ้นให้กับประชาชนทั่วไป (IPO) เป็นครั้งแรกได้ ในช่วงไตรมาสที่ 1/2565 นี้ครับ
คุณกิตติพงศ์ ลิ่มสุวรรณโรจน์
รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปฏิบัติหน้าที่ที่บริษัท บีบีจีไอ จำกัด (มหาชน) (BBGI)