Executive Talk ครั้งนี้เราได้รับเกียรติจาก

คุณสุวัฒน์ มีมุข

ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สถาบันวัตกรรมและบ่มเพาะธุรกิจ

บริษัท บางจากฯ ให้ความสำคัญกับนวัตกรรม และการต่อยอดไปยังธุรกิจใหม่ๆ อย่างไรบ้างคะ?

ทางบริษัทฯให้ความสำคัญอย่างมากในการปรับสมดุลกลุ่มธุรกิจ โดยในอดีตบริษัทมี EBITDA หลักๆมาจากธุรกิจน้ำมัน ซึ่งเป็นธุรกิจที่มีความผันผวนสูงจากราคาน้ำมันโลก ทำให้กลุ่มบางจากฯ มีการตั้งเป้าหมายไว้ว่าบริษัทฯต้องมีธุรกิจใหม่อื่นๆเพื่อเข้ามาปรับสมดุล ไม่ให้บริษัทฯพึ่งพิงเพียงแค่กลุ่มธุรกิจเดียว โดยบางจากฯตั้งเป้าให้กลุ่มธุรกิจใหม่ๆที่เป็นธุรกิจสีเขียว (พลังงานไฟฟ้าสีเขียว Green Energy และ ผลิตภัณฑ์ชีวภาพ Bio-Based) มี EBITDA โตขึ้นเป็น 50% ของ EBITDA รวมภายใน 5 ปีข้างหน้า ซึ่งนวัตกรรมใหม่ๆเข้ามามีบทบาทอย่างมากในสร้างความเปลี่ยนแปลง สร้างผลิตภัณฑ์ใหม่และธุรกิจใหม่ และตอกย้ำการเป็นผู้นำทางธุรกิจสีเขียวที่พัฒนาธุรกิจคู่กับสังคมและสิ่งแวดล้อม เพื่อให้บรรลุเป้าหมายบริษัทฯจึงได้จัดตั้งสถาบันนวัตกรรมและบ่มเพาะธุรกิจ (BiiC) ขึ้นเมื่อ 3 ปีที่แล้ว โดยปัจจุบันมีหน่วยงานหลัก 3 ส่วน คือ

  1. R&D เป็น Internal Innovation โดยเป็นหน่วยงานที่วิจัย พัฒนา และต่อยอดผลิตภัณฑ์ของบริษัทฯ เพื่อให้สอดคล้องต่อความต้องการของลูกค้าในอนาคต รวมถึงค้นคว้านวัตกรรมใหม่ๆให้ทัน trend หรือ กระแสธุรกิจโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยส่วน R&D ขณะนี้เราให้ความสนใจกับธุรกิจ Bio-Based เป็นหลัก
  2. Corporate Venture Capital หรือ CVC เป็น External Innovation ที่คอย Scout หา Startup ที่มีแนวโน้มจะมา Disrupt ธุรกิจปัจจุบัน หรือเป็นของใหม่ที่จะมาเป็นธุรกิจใหม่ ใน 3-5 ปี เพื่อต่อยอดมาเป็นธุรกิจของเราในอนาคต โดยการส่งบุคลากรของเราไปเรียนรู้ในตัวเทคโนโลยี ในประเทศชั้นนำต่างๆ เช่น ที่ Silicon Valley สหรัฐอเมริกา ยุโรป อิสราเอล และประเทศจีน เพื่อไปเฟ้นหา นวัตกรรมและเทคโนโลยีจาก startupระดับโลก ที่สามารถนำมาต่อยอดให้กับกลุ่มบริษัทฯได้ โดยเน้น startup ทางด้าน พลังงานไฟฟ้าสีเขียว และผลิตภัณฑ์ชีวภาพ
  3. Ecosystem & Incubation เป็น Hybrid Innovation ส่วนนี้จะที่คอยสรรหาความร่วมมือกับ start-up มหาวิทยาลัย สถาบันวิจัย และหน่วยงานอื่นๆในไทย โดยเริ่มจากการเชิญเข้ามานำเสนอโปรเจค เพื่อแก้ปัญหาหรือเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันให้กับทางบริษัทฯ ซึ่งต่อมาได้พัฒนามาถึงการสร้างให้คนข้างในบริษัทฯให้เป็น Internal Startup หรือเรียกว่าโครงการ Intrapreneur โดยเปิดกว้างให้พนักงานใหม่ๆที่มีความกล้าที่จะออกมาคิดทำธุรกิจที่แตกต่างจากสิ่งที่บางจากฯทำอยู่ แล้วนำมาศึกษาต่อยอดเป็นธุรกิจใหม่ได้

อีกเรื่องหนึ่ง ทางบริษัทฯ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของระบบดิจิตอลที่เข้ามามีบทบาทในเชิงธุรกิจอย่างมากจึงตั้งหน่วยงาน Corporate Digital Transformation เพิ่มเติมภายใต้ BiiC ในปีนี้ด้วยเช่นกัน โดยจะเข้าไปหา pain point หรือความต้องการจากหน่วยงานภายใน แล้วนำ digital technology มาช่วยแก้ pain point เช่นลด process การทำงาน เพิ่มศักยภาพให้กับบุคลากรภายในบริษัท หรือพัฒนาให้เกิดเป็นนวัตกรรมทางธุรกิจด้วยdigital technology ที่สามารถสร้างรายได้เพิ่มหรือลดรายจ่ายให้กับกลุ่มบริษัทฯได้อีกด้วยครับ

มองว่าในอนาคตนวัตกรรมจะเข้ามามีบทบาทเพิ่มขึ้นกับธุรกิจของกลุ่มบริษัทฯอย่างไร และทาง BIIC มีส่วนช่วยผลักดันอย่างไรบ้างคะ?
จากเป้าหมายต้องการให้ธุรกิจสีเขียว (พลังงานไฟฟ้าสีเขียว Green Energy และ ผลิตภัณฑ์ชีวภาพ Bio-Based) มี EBITDA โตขึ้นเป็น 50% ของ EBITDA รวมภายใน 5 ปีข้างหน้า จึงมีความจำเป็นใช้นวัตกรรมเป็นอย่างมาก โดย BiiC มีเป้าหมายหลักที่จะผลักดันนวัตกรรมชั้นสูงให้กับกลุ่มธุรกิจธุรกิจสีเขียว อย่างธุรกิจพลังงานไฟฟ้าสีเขียว BiiC ได้มีการเฟ้นหานวัตกรรม จาก startup อย่างเรื่อง Energy Efficiency และ Digital Energy เข้ามาเพิ่มเป็นส่วนธุรกิจใหม่ หรือ New Engine ที่จะช่วยบริษัท BCPG เติบโตเพิ่มเติมได้ในอนาคต ส่วนของธุรกิจ Bio-Based ต้องขอยกตัวอย่างย้อนกลับไปในอดีตประมาณ 5-6 ปี ตอนนั้นเรามีการเล็งเห็นว่าสาหร่ายสามารถนำมาผลิตเป็นน้ำมันไบโอดีเซลได้ พร้อมทั้งให้ yield ที่สูงและราคาที่ถูกกว่าน้ำมันปาล์ม จึงมีเริ่มการทำ R&D เพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ไปโอดีเซลจากสาหร่าย ต่อมาราคาน้ำมันตกลงอย่างมาก การวิจัยสาหร่ายตัวดังกล่าวจึงปรับเปลี่ยนใหม่ ให้มาทำเป็น High Value Product เป็น Astaxanthin ซึ่งเป็น antioxidant ที่ดีกว่าวิตามินซี หลายพันเท่า ซึ่งทางส่วนR&Dสามารถวิจัยสำเร็จใน 2 ปี และมีการพัฒนาเพิ่มเป็น Pilot Plant ในขณะนี้ ซึ่งน่าจะสำเร็จในอีก 1 ปีจากนี้ครับ ซึ่งจะเห็นว่าทาง BiiC กำลังหาผลิตภัณฑ์ที่ขยายออกนอกธุรกิจพลังงาน อาจเป็นอาหารเสริม โปรตีนจากพืช food ingredient หรือ cosmetic นอกจากนี้ BiiC ได้ลงทุนกับ startup ที่มีเทคโนโลยีชั้นสูงทางด้าน Synthetic biology ที่เป็นสาขาเทคโนโลยีที่จะมาเปลี่ยนแปลงโลกในอนาคต ที่ทางเรากำลังต่อยอดให้มีการร่วมลงทุนในไทยให้กลายมาเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ให้กับบริษัทในเครือ เช่น BBGI ในอนาคตอันใกล้นี้ครับ
ธุรกิจ Start-up ประเภทไหนที่ทาง BiiC สนใจบ้างคะ?

ในส่วนของธุรกิจ Start-up ใหม่ๆนั้น ทาง BiiC ก็ได้มีการเฟ้นหาและคัดเลือกธุรกิจที่น่าสนใจ และมี Synergy ตรงกับบริษัทของเราอยู่ตลอดเวลา โดยเราเน้นไปที่ startup ทางด้านธุรกิจสีเขียว 2 ด้าน คือ

  1. พลังงานไฟฟ้าสีเขียว Green Energy สำหรับบริษัท BCPG เน้นเทคโนโลยีชั้นสูงด้าน digital energy, battery, energy efficiency เป็นต้น และ
  2. ผลิตภัณฑ์ชีวภาพ Bio-Based สำหรับ BBGI เช่น food ingredient, alternative protein, cosmetic ซึ่งเป็น high value products ที่มีต้นน้ำจากพืชการเกษตรของไทย เราสนใจ Start-up ที่มีเทคโนโลยีชั้นสูง หรือ deep tech ทั้งจากต่างประเทศ และในประเทศไทยครับ
ช่วงนี้ได้เห็นข่าวโครงการ “Winnonie” ของบางจากฯ รบกวนคุณสุวัฒน์ช่วยเล่าความเป็นมา รูปแบบ และความคืบหน้าของโครงการให้ฟังหน่อยได้ไหมคะ?
เนื่องจากทางบริษัทฯเริ่มจากส่วนงาน HR จัดการสอนเรื่อง Design Thinking ให้กับพนักงานทุกระดับเป็นระยะเวลา 2-3 ปี เลยเกิดเป็นความคิดที่ให้พนักงานรุ่นใหม่ภายในบริษัทฯทำโปรเจกต์มาประกวดกัน จนนำไปสู่โครงการ Intrapreneur หรือปั้นคนในให้เป็นเถ้าแก่ โดยเป็นการให้พนักงานมาทำความเข้าใจในปัญหาต่างๆ อย่างลึกซึ้ง เข้าใจถึงปัญหาของกลุ่มลูกค้า (Empathizing) ว่าลูกค้าต้องการอะไร มีปัญหา Pain point อะไร แล้วเราจะสามารถเข้าไปแก้ปัญหาแล้วสร้างธุรกิจใหม่ๆเพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้ยังไง โดยมีโจทย์ คือ ธุรกิจใหม่นั้นต้องสามารถนำมาต่อยอดหรือเชื่อมโยงเข้ากับธุรกิจบางจากฯได้ แล้วทีม “Winnonie” หรือ ”การแก้ปัญหา พี่วินมอเตอร์ไซค์ ให้ไม่มีหนี้” เองก็ได้เกิดมาจากโครงการนับว่าเป็น Internal Startup ทีมแรกของบางจากครับ หลังจากนั้นน้องๆได้รับอนุมัติให้ทำโครงการนำร่องทดลองให้ผู้ประกอบอาชีพวินมอเตอร์ไซค์ในพื้นที่รอบสำนักงานใหญ่และโรงกลั่นน้ำมันบางจากเช่ามอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าใช้งานเพื่อศึกษาข้อมูลเป็นเวลา 3 เดือน โดยโครงการนี้ มีวัตถุประสงค์ในการช่วยลดภาระหนี้สินซึ่งถือเป็น pain point หลักของผู้ประกอบการวินมอเตอร์ไซค์ ซึ่งการเช่ามอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าจะเป็นการลดภาระการซื้อหรือเช่าซื้อที่ดอกเบี้ยสูงมาก พร้อมกับช่วยดูแลสิ่งแวดล้อม เพราะใช้รถไฟฟ้าสามารถลดมลพิษ ลด PM 2.5 ด้วยครับ ปัจจุบันโครงการ Winnonie มีพี่วินเข้าร่วมโครงการแล้ว 15 คน โดยในปีหน้าเราหวังว่าจะเพิ่มขึ้นอีก มากว่า 10 เท่าตัว นอกจากนี้ ทางทีมได้พัฒนาอย่างต่อเนื่องโดยใช้ Model ธุรกิจใหม่ๆเพื่อให้สอดคล้องกับการใช้งานจริงอย่าง Battery Swapping Station ซึ่งนับเป็นรายแรกๆในไทยที่ผู้ใช้งานนำเอาแบตเตอรี่ที่ใช้งานแล้วมาสลับกับแบตเตอรี่ที่บรรจุไฟเต็มไปใช้งานแทนการชาร์ตไฟฟ้าที่บ้านแบบปกติ เพิ่มความรวดเร็วให้กับผู้ใช้บริการ ทางบริษัทฯเล็งเห็นว่าการเริ่มธุรกิจมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าซึ่งเป็นธุรกิจแห่งอนาคตและสามารถขยายไปในธุรกิจอื่นๆได้อย่างมากมาย ตรงกับทางบางจากเราที่มุ่งมั่นในการพัฒนาธุรกิจสีเขียวควบคู่ไปกับสังคมและสิ่งแวดล้อมครับ

คุณสุวัฒน์ มีมุข

ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สถาบันวัตกรรมและบ่มเพาะธุรกิจ