คำอธิบายงบการเงินไตรมาสที่ 1

ที่ 1600 / 071 / 2547 24 พฤษภาคม 2547 เรื่อง คำอธิบายและการวิเคราะห์ของฝ่ายจัดการ สำหรับผลการดำเนินงานสำหรับไตรมาส 1 สิ้นสุด วันที่ 31 มีนาคม 2547 เรียน กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สำเนาเรียน ผู้อำนวยการฝ่ายจดทะเบียนหลักทรัพย์ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) สิ่งที่ส่งมาด้วย คำอธิบายและการวิเคราะห์ของฝ่ายจัดการ สำหรับผลการดำเนินงานสำหรับไตรมาส 1 สิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2547 ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้สนับสนุนให้บริษัท จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ มีการจัดทำคำอธิบายและการวิเคราะห์ของฝ่ายจัดการทุกไตรมาส เพื่อให้ผู้ลงทุน สามารถเข้าใจฐานะการเงินและผลการดำเนินงานของบริษัทได้ดียิ่งขึ้นนอกเหนือจากข้อมูลตัวเลขในงบการเงิน อีกทั้งเพื่อให้ผู้ลงทุนได้มีข้อมูลที่เพียงพอต่อการตัดสินใจลงทุนในหลักทรัพย์ของบริษัท ตามหลักการกำกับดูแล กิจการที่ดี (GOOD GOVERNANCE) ในเรื่องการให้ความสำคัญต่อการเปิดเผยข้อมูล นั้น บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ในฐานะที่เป็นบริษัทจดทะเบียนหนึ่งในตลาดหลักทรัพย์ ได้ให้ความสำคัญต่อการดำเนินกิจการอย่างโปร่งใสตามแนวนโยบายบรรษัทภิบาล จึงได้จัดทำและใคร่ขอนำ ส่งคำอธิบายและการวิเคราะห์ของฝ่ายจัดการ สำหรับผลการดำเนินงานสำหรับไตรมาส 1 สิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2547 ดังรายละเอียดตามสิ่งที่ส่งมาด้วย จึงเรียนมาเพื่อทราบ ขอแสดงความนับถือ (นายวัชรพงศ์ ใสสุก) ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักแผนกิจการ สำนักแผนกิจการ โทร. 0 -2335-4583 คำอธิบายและการวิเคราะห์ของฝ่ายจัดการ ผลการดำเนินงานสำหรับไตรมาส 1 สิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2547 ข้อมูลทั่วไป บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2528 โดย รัฐบาล ฯพณฯ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ โดยมุ่งหมายให้ดำเนินการแบบเอกชน และเป็นบริษัทน้ำมันของคนไทยที่ดำเนินกิจการสอดคล้อง กับประโยชน์ของคนไทยและสังคมไทย ปัจจุบันบริษัทฯ ประกอบธุรกิจจำหน่ายน้ำมันสำเร็จรูป ทั้งค้าปลีกและค้าส่ง และบริหารกิจการโรงกลั่น น้ำมันขนาด 120,000 บาเรลต่อวัน ซึ่งก่อสร้างใหม่ทดแทนหน่วยเดิม โดยหน่วยกลั่นล่าสุดแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2536 การออกแบบกระบวนการกลั่นเน้นการผลิตได้น้ำมันสะอาด ประหยัดพลังงาน และให้ผลผลิตสูง อีกทั้ง บริษัทฯ มีการขยายเครือข่ายสถานีบริการน้ำมันออกไปประมาณ 1,100 แห่ง ทั่วประเทศ โดยเป็นสถานีบริการ น้ำมันขนาดใหญ่ประมาณ 600 แห่ง และปั๊มชุมชนขนาดเล็กประมาณ 500 แห่ง ภาพรวมธุรกิจในไตรมาส 1 ปี 2547 สำหรับไตรมาส 1 ปี 2547 เศรษฐกิจในประเทศและภูมิภาคมีการเจริญเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผล ให้ความต้องการใช้น้ำมันปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งความต้องการใช้น้ำมันจากประเทศจีนและความต้องการ ใช้น้ำมันเป็นวัตถุดิบในภาคอุตสาหกรรมปิโตรเคมีที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก ในขณะที่กำลังการผลิตอยู่คงที่หรือเพิ่ม เพียงเล็กน้อย มีผลทำให้ราคาน้ำมันสำเร็จรูปและค่าการกลั่นปรับตัวสูงขึ้นอย่างมากเช่นเดียวกัน ส่วนสภาวะ การแข่งขันในประเทศมีแนวโน้มลดลงจากการเจริญเติบโตของสภาวะเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีผลโดยตรง ต่อปริมาณความต้องการใช้น้ำมัน ประกอบกับภาครัฐได้ใช้นโยบายตรึงราคาน้ำมัน ส่งผลให้ในตลาดสถานีบริการ ไม่มีการแข่งขันด้านราคา ดังนั้น จากปัจจัยข้างต้นบริษัทฯ ได้เพิ่มปริมาณการกลั่นและปริมาณจำหน่ายในทุก ช่องทาง และพยายามเพิ่มปริมาณการจำหน่ายเฉพาะในช่องทางที่มีกำไรสูง เช่น การเพิ่มปริมาณการจำหน่าย ผ่านสถานีบริการภายใต้ตราของบริษัท การเพิ่มปริมาณการจำหน่ายน้ำมันเตาในตลาดอุตสาหกรรม และการ เพิ่มปริมาณการส่งน้ำมันเตาไปเพิ่มมูลค่าที่โรงกลั่นอื่น รายละเอียดผลการดำเนินงานเฉพาะบริษัทมีดังนี้ 1. คำอธิบายและการวิเคราะห์ผลการดำเนินงานสำหรับไตรมาส 1 ปี 2547 เปรียบเทียบช่วงเดียวกันปี 2546 1.1 การวิเคราะห์กำไรขาดทุน ผลการดำเนินงานไตรมาส 1 ปี 2547 บริษัทฯ มีกำไรก่อนหักดอกเบี้ยและค่าเสื่อมราคา (EBITDA) +1,057 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 117 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันปีก่อน มีดอกเบี้ยจ่ายสุทธิ (หักลบดอกเบี้ยรับ) 235 ล้านบาท มีค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย 183 ล้านบาท ส่งผลให้บริษัทฯ มีผลกำไรสุทธิ 646 ล้านบาท (ช่วงเดียวกันปี 2546 มีผลกำไรสุทธิ 422 ล้านบาท) ผลการดำเนินการดังกล่าวมีสาเหตุ มาจากปัจจัยดังต่อไปนี้ 1) ธุรกิจการกลั่นมี EBITDA จำนวน 797 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลมาจาก - การปรับตัวเพิ่มขึ้นของค่าการกลั่นรวมมาอยู่ที่ระดับ 3.15 ดอลลาร์ สรอ./ บาเรล เนื่องจาก ความต้องการใช้น้ำมันได้ปรับตัวสูงขึ้นตามสภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว และมีความต้องการใช้ น้ำมันเป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีสูงขึ้นเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้ราคาน้ำมันเบนซิน และดีเซลปรับตัวขึ้นสูงกว่าการปรับตัวขึ้นของน้ำมันดิบ ประกอบกับ บริษัทฯ ได้มีการร่วมมือ ในกิจกรรมเพิ่มรายได้และลดต้นทุนร่วมกับบริษัทน้ำมันอื่นอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ บริษัทฯ ได้เพิ่มปริมาณการกลั่นขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 96 พันบาเรล/ วัน โดยเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปี ก่อน 39 พันบาเรล/ วัน เนื่องจากในไตรมาส 1 ปี 2546 บริษัทฯ ได้มีการหยุดซ่อมบำรุง หน่วยกลั่น 2 ขนาด 80 พันบาเรล/ วัน เป็นระยะเวลา 30 วัน อย่างไรก็ตาม ค่าการกลั่นดังกล่าวส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการปรับตัวขึ้นของราคาน้ำมันดิบ และน้ำมันสำเร็จรูป ซึ่งมีผลทำให้บริษัทฯ มีผลกำไรบางส่วนจากสต๊อกน้ำมัน ซึ่งหากไม่รวม กำไรจากสต๊อกน้ำมัน ค่าการกลั่นจะอยู่ที่ระดับ 1.93 ดอลลาร์ สรอ./ บาเรล ปรับตัวลดลง เล็กน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งอยู่ที่ระดับ 2.18 ดอลลาร์ สรอ./ บาเรล จาก การที่ราคาน้ำมันสำเร็จรูปในช่วงไตรมาส 1 ปี 2546 ได้ปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็วตามราคา น้ำมันในตลาดซื้อขายล่วงหน้าจากความตึงเครียดของสถานการณ์ในตะวันออกกลาง - บริษัทฯ มีกำไรจากสต๊อกน้ำมัน (FX & Price Effects) จำนวน 405 ล้านบาท เมื่อเปรียบ เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ที่มีกำไรจากสต๊อกน้ำมันจำนวน 518 ล้านบาท 2) ธุรกิจการตลาดมี EBITDA จำนวน 259 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลมาจาก - ปริมาณการขายน้ำมันสำเร็จรูปปรับเพิ่มขึ้นทุกช่องทางการจำหน่าย เมื่อเทียบกับช่วงเดียว กันปีก่อน โดยปริมาณการขายน้ำมันผ่านตลาดค้าปลีกเพิ่มขึ้นเป็น 55.7 พันบาเรล/ วัน หรือเพิ่มขึ้น 15% โดยเพิ่มขึ้นในตลาดขายปลีกผ่านสถานีบริการประมาณ 16% จากการทำ กิจกรรมทางการตลาดอย่างต่อเนื่อง และเพิ่มขึ้นในตลาดอุตสาหกรรมและขนส่งประมาณ 11% จากการใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นของโรงงานอุตสาหกรรมตามสภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว - ค่าการตลาดน้ำมันสำเร็จรูปอยู่ที่ระดับ 0.44 บาท/ ลิตร ปรับตัวลดลงประมาณ 0.08 บาท/ ลิตร ซึ่งเป็นผลมาจากสภาวะการแข่งขันในช่วงที่ราคาน้ำมันปรับตัวขึ้นก่อนจะมีการตรึงราคา น้ำมันโดยภาครัฐ 1.2 การวิเคราะห์รายได้ ในไตรมาส 1 ปี 2547 บริษัทฯ มีรายได้รวม 18,469 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน 3,995 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 24.6 โดยมีรายละเอียด ดังนี้ 1) รายได้จากการขายจำนวน 18,406 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน 4,009 ล้านบาท หรือร้อยละ 27.8 เนื่องจากยอดขายรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 29.8 แต่ราคาขายน้ำมันเฉลี่ยลดลง ร้อยละ 2.5 (ราคาน้ำมันเฉลี่ย 10.59 บาท/ลิตร เทียบกับ 10.86 บาท/ลิตร) 2) กำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนจำนวน 33 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน 8 ล้านบาท โดยเป็นกำไรอัตราแลกเปลี่ยนจากเงินกู้และอื่นๆ 7 ล้านบาท และกำไรอัตราแลกเปลี่ยนจาก เจ้าหนี้การค้า 26 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลมาจากการปรับตัวแข็งค่าขึ้นของค่าเงินบาทจาก 39.74 บาท/ดอลลาร์ สรอ. ณ สิ้นปี 2546 เป็น 39.55 บาท/ดอลลาร์ สรอ. ณ สิ้นไตรมาส 1 ปี 2547 1.3 วิเคราะห์ค่าใช้จ่ายรวม ในไตรมาส 1 ปี 2547 บริษัทฯ มีค่าใช้จ่ายรวม 17,581 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3,801 ล้านบาท หรือ ร้อยละ 27.6 และมีดอกเบี้ยจ่ายจำนวน 243 ล้านบาท ลดลง 32 ล้านบาท หรือร้อยละ 11.5 1) ค่าใช้จ่ายรวมจำนวน 17,581 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 3,801 ล้านบาท หรือร้อยละ 27.6 เป็น ผลมาจาก - ต้นทุนขายจำนวน 17,135 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3,774 ล้านบาท หรือร้อยละ 28.2 เมื่อเทียบกับ ช่วงเดียวกันปีก่อน เนื่องจากยอดขายรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 29.8 แต่ต้นทุนน้ำมันเฉลี่ยลดลง ร้อยละ 1.2 (ต้นทุนน้ำมันเฉลี่ย 9.69 บาท/ลิตร เทียบกับ 9.81 บาท/ลิตร) ประกอบกับ ค่าใช้จ่ายในการผลิตที่ปรับลดลงประมาณ 60 ล้านบาท ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการที่ บริษัทฯ ได้ทำการยืดอายุการตัดค่าเสื่อมราคาของสินทรัพย์โรงกลั่นออกไปให้สอดคล้องกับอายุ การใช้งานของโรงกลั่น ซึ่งทำให้ค่าเสื่อมราคาในส่วนนี้ที่ถูกบันทึกไว้ในต้นทุนขายปรับลดลง - ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารจำนวน 290 ล้านบาท ลดลง 11 ล้านบาท เป็นผลมาจากใน ไตรมาส 1 ปี 2546 บริษัทฯ มีค่าใช้จ่ายที่ไม่ใช่ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นเป็นประจำ เช่น ค่าที่ปรึกษา ในการปรับโครงสร้างธุรกิจและการเงิน และค่าใช้จ่าย Software คอมพิวเตอร์ - ขาดทุนจากสัญญาซื้อขายน้ำมันดิบและผลิตภัณฑ์น้ำมันล่วงหน้าจำนวน 84 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 39 ล้านบาท เนื่องจากในไตรมาส 1 ปี 2547 ราคาน้ำมันในตลาดโลกได้ปรับตัวสูงขึ้นอย่าง ต่อเนื่อง ส่งผลให้บริษัทฯ มีกำไรสูงกว่าระดับเป้าหมายและยังสูงกว่าระดับราคาที่บริษัทฯ ได้ทำสัญญาประกันราคาไว้ ดังนั้น บริษัทฯ จึงต้องชำระเงินส่วนต่างราคาระหว่างราคาใน ตลาดโลกกับราคาที่ทำประกันให้กับคู่สัญญานั้นๆ ตามวิธีการทำประกันความเสี่ยงโดยทั่วไป แต่อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ ก็ได้รับรู้ผลประกอบการตามเป้าหมายที่ได้ตั้งไว้แล้ว 2) ดอกเบี้ยจ่ายจำนวน 243 ล้านบาท ลดลง 32 ล้านบาท หรือร้อยละ 11.5 เป็นผลจากการทะยอย Refinance หุ้นกู้เดิมบางส่วนด้วยเงินทุนใหม่จากการปรับโครงสร้างการเงิน ทั้งนี้ ผลของการ ปรับโครงสร้างการเงินดังกล่าวจะส่งผลต่อผลการดำเนินงานของบริษัทฯ อย่างเต็มที่ตั้งแต่ไตรมาส 2 ปี 2547 เป็นต้นไป 2. คำอธิบายและการวิเคราะห์ฐานะการเงินสำหรับ ณ วันที่ 31 มีนาคม 2547 เปรียบเทียบ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2546 2.1 สินทรัพย์ สินทรัพย์รวม ณ สิ้นไตรมาส 1 ปี 2547 เทียบกับ ณ สิ้นปี 2546 มีมูลค่าเพิ่มขึ้น 599 ล้านบาท โดย รายการสินทรัพย์ที่เปลี่ยนแปลงมากคือ 1) เงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดจำนวน 751 ล้านบาท ลดลง 2,598 ล้านบาท เมื่อเทียบกับ ณ สิ้นปี 2546 เนื่องจาก ณ สิ้นปี 2546 บริษัทฯ ได้เตรียมเงินสดเพื่อชำระหนี้ค่าน้ำมันดิบที่ถึง กำหนดชำระในวันที่ 6 มกราคม 2547 จำนวน 46 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 1,800 ล้าน บาท นอกจากนี้ บริษัทฯ ได้ทำการจัดหาวงเงินกู้ระยะสั้นเพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนจำนวน 4,000 ล้านบาท ตามแผนการปรับโครงสร้างการเงิน ทำให้สามารถบริหารเงินสดได้ดีขึ้น และไม่ จำเป็นที่จะต้องถือเงินสดจำนวนมากอีกต่อไป 2) ลูกหนี้/ตั๋วเงินรับการค้า มูลค่า 3,426 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 632 ล้านบาท เมื่อเทียบกับ ณ สิ้นปี 2546 เนื่องจากยอดจำหน่ายน้ำมันที่สูงขึ้น ประกอบกับราคาน้ำมันเฉลี่ยที่ปรับตัวสูงขึ้น 3) สินค้าคงเหลือรวมทั้งสิ้นจำนวน 7,338 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,942 ล้านบาท เมื่อเทียบกับ ณ สิ้นปี 2546 เนื่องจากปริมาณสินค้าคงเหลือที่เพิ่มขึ้น 181 ล้านลิตร เพื่อรองรับการหยุดซ่อมแซมหน่วย กลั่นที่ 2 ในช่วงกลางไตรมาส 2 ประกอบกับราคาเฉลี่ยได้ปรับเพิ่มขึ้น 0.53 บาท/ ลิตร 4) สินทรัพย์หมุนเวียนอื่นๆ จำนวน 296 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 153 ล้านบาท เมื่อเทียบกับ ณ สิ้นปี 2546 เนื่องจากภาครัฐได้มีการเข้าตรึงราคาขายของน้ำมันสำเร็จรูป ณ สถานีบริการน้ำมันตั้งแต่ ต้นเดือนมกราคม 2547 ส่งผลให้บริษัทฯ มีเงินชดเชยกองทุนค้างรับจากกองทุนน้ำมันเพิ่มขึ้น 5) สินทรัพย์ไม่มีตัวตนจำนวน 1,502 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 529 ล้านบาท เมื่อเทียบกับ ณ สิ้นปี 2546 เนื่องจากบริษัทฯ ได้ทำการต่ออายุสัญญาเช่าใช้ที่ราชพัสดุซึ่งเป็นที่ตั้งโรงกลั่นและสำนักงานใหญ่ ของบริษัทฯ จาก 12 ปี เป็น 30 ปี โดยมีค่าธรรมเนียมการเช่าล่วงหน้าจำนวน 552 ล้านบาท ซึ่ง จะเริ่มทะยอยชำระตั้งแต่ปี 2550 - 2558 6) สินทรัพย์ไม่หมุนเวียนอื่นๆ จำนวน 523 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 123 ล้านบาท เมื่อเทียบกับ ณ สิ้นปี 2546 เนื่องจากบริษัทฯ มีรายจ่ายในการออกหุ้นกู้และเงินกู้ระยะยาวรอตัดบัญชีจากการปรับ โครงสร้างการเงินเพิ่มขึ้น 111 ล้านบาท 2.2 หนี้สิน หนี้สิน ณ สิ้นไตรมาส 1 ปี 2547 เทียบกับ ณ สิ้นปี 2546 มีมูลค่าลดลง 2,916 ล้านบาท โดย รายการหนี้สินที่เปลี่ยนแปลงมาก คือ 1) เจ้าหนี้การค้าจำนวน 4,957 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 528 ล้านบาท เมื่อเทียบกับ ณ สิ้นปี 2546 ตาม แผนการสั่งซื้อน้ำมันตามปกติ แต่ราคาน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปได้ปรับตัวสูงขึ้น 2) เงินกู้ยืมระยะสั้นและเงินกู้ยืมระยะยาวรวมทั้งสิ้นจำนวน 15,665 ล้านบาท ลดลง 3,699 ล้านบาท เมื่อเทียบกับ ณ สิ้นปี 2546 เนื่องจากบริษัทฯ ได้ดำเนินการปรับโครงสร้างทางการเงินโดยการ ออกหุ้นสามัญเพิ่มทุนในรูปของใบแสดงสิทธิในผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากหุ้นสามัญบางจาก (CSDR) จำนวน 3,000 ล้านบาท ประกอบกับมีการชำระคืนหนี้ที่ครบกำหนดชำระโดยใช้เงินสด คงเหลือจากการดำเนินงานในปี 2546 และไตรมาส 1 ปี 2547 นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังได้ทำการ Refinance เงินกู้เดิมโดยการออกและเสนอขายหุ้นกู้แปลงสภาพในรูปของใบแสดงสิทธิในผล ประโยชน์ที่เกิดจากหุ้นกู้แปลงสภาพบางจาก (CDDR) จำนวน 4,000 ล้านบาท ซึ่งบันทึกอยู่ใน รูปของเงินกู้ระยะยาว แต่อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ ไม่มีภาระในการไถ่ถอนเงินต้นจำนวนดังกล่าว เนื่องจากผู้ถือดีอาร์หุ้นกู้แปลงสภาพมีทางเลือกในการไถ่ถอน 2 ทางเมื่อดีอาร์ดังกล่าวมีอายุครบ กำหนด คือ การแปลงสภาพเป็นหุ้นสามัญบางจาก หรือขายคืนให้กระทรวงการคลังที่ราคาที่ออก และเสนอขาย 3) ณ สิ้นไตรมาส 1 ปี 2547 บริษัทฯ มีหนี้สินจากสิทธิการเช่าระยะยาวจำนวน 552 ล้านบาท เนื่องจากเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2547 กรมธนารักษ์ได้อนุญาตให้บริษัทฯ ผ่อนชำระค่าธรรมเนียม การต่ออายุสัญญาเช่าที่ราชพัสดุซึ่งเป็นที่ตั้งโรงกลั่นและสำนักงานใหญ่ของบริษัทฯ โดยผ่อน ชำระค่าธรรมเนียมดังกล่าวเป็นรายปี เริ่มตั้งแต่ปี 2550 - 2558 ซึ่งได้บันทึกบัญชีเป็นหนี้สิน จากสิทธิการเช่าระยะยาว 2.3 ส่วนของผู้ถือหุ้น 1) ส่วนของผู้ถือหุ้น ณ สิ้นไตรมาส 1 ปี 2547 จำนวน 6,596 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3,515 ล้านบาท เมื่อเทียบกับ ณ สิ้นปี 2546 เนื่องจากบริษัทฯ มีการออกหุ้นสามัญเพิ่มทุนในรูปของใบแสดงสิทธิใน ผลประโยชน์ที่เกิดจากหุ้นสามัญบางจาก (CSDR) จำนวน 3,000 ล้านบาท และมีผลกำไรสุทธิของ ไตรมาส 1 จำนวน 646 ล้านบาท 2) ที่ประชุมผู้ถือหุ้นสามัญประจำปี 2547 เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2547 ได้ทำการอนุมัติการโอน ส่วนเกินทุนจากการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนมูลค่าสูงกว่าจำนวน 2,389,126,110 บาท เพื่อ มาชดเชยผลขาดทุนสะสม ซึ่งจะมีผลทำให้ยอดขาดทุนสะสม ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2546 จำนวน 2,389,126,110 บาท หมดไป การล้างขาดทุนสะสมดังกล่าวจะปรากฎในงบการเงิน ไตรมาส 2 ปี 2547 3. คำอธิบายและการวิเคราะห์งบกระแสเงินสด สำหรับไตรมาส 1 ปี 2547 เปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันปี 2546 ในไตรมาส 1 ปี 2547 บริษัทฯ มีเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดจำนวน 751 ล้านบาท ลดลง 2,598 ล้านบาท เป็นผลมาจากการที่บริษัทฯ ได้มีการปรับโครงสร้างทางการเงิน โดยจัดหาวงเงินกู้เพื่อใช้เป็น เงินทุนหมุนเวียน และใช้ชำระหนี้ที่ครบกำหนดชำระ ซึ่งทำให้บริษัทฯ ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องถือเงินสดเป็นจำนวน มากเช่นในอดีต โดยเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสด ณ สิ้นปี 2546 จำนวน 3,348 ล้านบาท ถูกนำไปใช้ใน กิจกรรมดังต่อไปนี้ 1) เงินสดสุทธิใช้ไปในกิจกรรมดำเนินงานจำนวน 1,666 ล้านบาท เป็นผลมาจาก บริษัทฯ มีกำไร จากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงในสินทรัพย์และหนี้สินดำเนินงาน 824 ล้านบาท แต่มีสินทรัพย์และหนี้สินดำเนินงานเพิ่มขึ้นสุทธิ 2,490 ล้านบาท เนื่องจากระดับราคาน้ำมันและ ปริมาณกลั่นและปริมาณจำหน่ายได้ปรับตัวสูงขึ้น ประกอบกับมีการเก็บสำรองน้ำมันคงคลัง เพิ่มมากขึ้นเพื่อรองรับการหยุดซ่อมแซมหน่วยกลั่น 2 ในช่วงกลางไตรมาส 2 ส่งผลให้ บริษัทฯ มีมูลค่าลูกหนี้การค้าและน้ำมันคงคลังที่สูงขึ้น 2) เงินสดสุทธิที่ใช้ไปในกิจกรรมลงทุนจำนวน 158 ล้านบาท เป็นผลมาจากการลงทุนเพิ่มใน สินทรัพย์ถาวร-อุปกรณ์ และสินทรัพย์ไม่หมุนเวียนอื่นๆ 3) เงินสดสุทธิใช้ไปในกิจกรรมจัดหาเงินจำนวน 774 ล้านบาท เป็นผลมาการ Refinance เงินกู้ที่ ครบกำหนดชำระและเงินกู้ที่ขอไถ่ถอนก่อนกำหนดโดยการเบิกเงินกู้ระยะยาวจากธนาคารกรุงไทย และเงินทุนใหม่ที่ได้จากการเสนอขายดีอาร์หุ้นสามัญบางจากตามแผนการปรับโครงสร้างทาง การเงิน และการใช้เงินสดคงเหลือจากการดำเนินงานในปี 2546 และไตรมาส 1 ปี 2547 4. ปัจจัยและอิทธิผลหลักที่อาจมีผลต่อการดำเนินงานหรือฐานะการเงินในอนาคต สำหรับธุรกิจน้ำมันนั้น ปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อความต้องการใช้น้ำมัน คืออัตราการเติบโตของเศรษฐกิจ ซึ่งในปี 2547 เศรษฐกิจในภูมิภาคมีทิศทางปรับตัวสูงขึ้นจากปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศจีน ที่มี การเติบโตในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับ เศรษฐกิจไทยเองก็คาดว่าจะมีการเติบโตในระดับที่สูงกว่าปีก่อน ซึ่งส่งผลให้อัตราการใช้น้ำมันมีมากขึ้นเช่นเดียวกัน โดยบริษัทฯ คาดว่าความต้องการใช้น้ำมันในภูมิภาคและ ในประเทศจะเข้าสู่ภาวะสมดุลกับกำลังการผลิตในช่วงปี 2548 -2549 ซึ่งสอดคล้องกับการคาดการณ์ของ สำนักวิจัยหลายแห่งทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งหากสภาวะเกินดุลนี้หมดไป ค่าการกลั่นก็น่าจะปรับตัวดีขึ้น อย่างมีนัยสำคัญ แต่อย่างไรก็ตาม ระดับราคาน้ำมันก็ยังมีผลกระทบสำคัญต่อผลการดำเนินงานของบริษัทฯ เนื่องจากราคา น้ำมันได้ปรับตัวสูงขึ้นตั้งแต่ช่วงปลายปี 2546 เป็นต้นมา ซึ่งอาจมีความเป็นไปได้ว่าราคาน้ำมันอาจปรับตัวลดลงใน ช่วงกลาง - ปลายปี 2547 โดยการปรับตัวลดลงของราคาน้ำมันดังกล่าอาจส่งผลให้บริษัทฯ ได้รับผลกระทบจาก มูลค่าสต๊อกน้ำมันที่ลดลง แต่บริษัทฯ ก็มีส่วนงานที่คอยติดตามและบริหารความเสี่ยงดังกล่าวอย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ จากการที่บริษัทฯ มีแผนจะนำน้ำมันดิบในประเทศจากแหล่งในอ่าวไทยมากลั่น ซึ่งน้ำมันดิบ ดังกล่าวมีผลตอบแทนที่ดีกว่าน้ำมันดิบนำเข้าประมาณ 2 ดอลลาร์ สรอ./ บาเรล เนื่องจากค่าขนส่งที่ต่ำกว่า ประกอบกับมีส่วนลดราคาเพิ่มเติมจากผู้ประกอบการ แต่อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ อยู่ระหว่างดำเนินการติดตั้ง หน่วยกำจัดปรอท เพื่อให้สามารถกลั่นน้ำมันดิบดังกล่าวเพิ่มขึ้นจำนวนมากได้ โดยในขณะนี้บริษัทฯ อยู่ ระหว่างการเจรจาขอปรับเพิ่มปริมาณที่จะซื้อและส่วนลดราคาเพิ่มเติม