คำอธิบายงบการเงิน

ที่ 1000 / 026 / 2548 28 มกราคม 2548 เรื่อง นำส่งงบการเงินก่อนสอบทาน และชี้แจงผลการดำเนินงานปี 2547 เรียน กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สิ่งที่ส่งมาด้วย 1. งบการเงินก่อนสอบทานปี 2547 ฉบับภาษาไทย 1 ฉบับ 2. งบการเงินก่อนสอบทานปี 2547 ฉบับภาษาอังกฤษ 1 ฉบับ ตามที่บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน)ได้มีการจัดส่งงบการเงินก่อนสอบทานและ ก่อนตรวจสอบตามแนวทางการนำส่งงบการเงินก่อนสอบทานและก่อนตรวจสอบโดยผู้สอบบัญชี ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย นั้น บริษัทฯ ใคร่ขอนำส่งงบการเงินก่อนสอบทานโดยผู้สอบบัญชี สำหรับงวด ปี 2547 สิ้นสุด ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2547 และขอชี้แจงผลการดำเนินงานเพิ่มเติม เนื่องจากมีผลกำไรขาดทุนเปลี่ยนแปลง จากงวดเดียวกันของปีก่อนเกินร้อยละ 20 ดังนี้ บริษัทฯ มีรายได้รวม 79,206 ล้านบาท มีกำไรก่อนหักดอกเบี้ยและค่าเสื่อมราคา (EBITDA) +4,113 ล้านบาท มีดอกเบี้ยจ่ายสุทธิ (หักลบดอกเบี้ยรับ) 768 ล้านบาท มีค่าเสื่อมราคาและ ค่าตัดจำหน่าย 741 ล้านบาท ส่งผลให้บริษัทฯ มีผลกำไรสุทธิ 2,594 ล้านบาท (ช่วงเดียวกันปี 2546 มีผลขาดทุนสุทธิ 1,275 ล้านบาท) ผลการดำเนินการดังกล่าวมีสาเหตุมาจากปัจจัยดังต่อไปนี้ 1.1 ค่าการกลั่น (ไม่รวมผลกำไรจากสต๊อกน้ำมัน) อยู่ที่ระดับ 1.75 $/BBL เพิ่มขึ้นจาก ช่วงเดียวกันปีก่อนที่อยู่ที่ระดับ 1.41 $/BBL เนื่องจากความต้องการใช้น้ำมันได้ปรับตัวสูงขึ้น ตามสภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวและ มีความต้องการใช้น้ำมันเป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีสูงขึ้น เป็นจำนวนมาก ส่งผลให้ราคาน้ำมันเบนซินและดีเซลปรับตัวขึ้นสูงกว่าการปรับตัวขึ้นของน้ำมันดิบ ประกอบกับ ได้มีการร่วมมือในกิจกรรมเพิ่มรายได้และลดต้นทุนร่วมกับบริษัทน้ำมันอื่นอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ บริษัทฯ ได้เพิ่มปริมาณการกลั่นขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 90 KBD โดยเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกัน ปีก่อน 16 KBD สูงกว่าเป้าหมายที่วางไว้ที่ระดับ 88 KBD 1.2 ในปี 2547 บริษัทฯ มีกำไรจากสต๊อกน้ำมันจำนวน 2,176 ล้านบาท จากราคาน้ำมันที่ปรับตัว เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง (น้ำมันดิบดูไบปรับตัวเพิ่มขึ้นประมาณ 7.5 $/BBL) เมื่อเปรียบเทียบกับ ช่วงเดียวกันปี 2546 ที่มีกำไรจากสต๊อกน้ำมันจำนวน 52 ล้านบาท 1.3 ปี 2547 บริษัทฯ มีค่าการตลาด (ไม่รวมน้ำมันเครื่องบิน) อยู่ที่ระดับ 46 สตางค์ต่อลิตร สูงกว่าช่วงเดียวกันปีก่อนที่อยู่ที่ระดับ 41 สตางค์ต่อลิตร ทั้งนี้เป็นผลมาจากการตรึงราคาน้ำมัน ของภาครัฐ ส่งผลให้การแข่งขันด้านราคาลดลง ประกอบกับในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี รัฐมีนโยบายยกเลิกการตรึงราคาน้ำมันเบนซินในขณะที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกเริ่มปรับตัวลดลง ส่งผลให้ค่าการตลาดน้ำมันเบนซินอยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูงจากการปรับราคาขายลดลงช้ากว่าต้นทุน น้ำมันที่ลดลง แต่อย่างไรก็ตามในปี 2547 บริษัทฯ มีผลขาดทุนจากการขายน้ำมันเครื่องบิน จำนวน 37 ล้านบาท เนื่องจากสูตรราคาขายน้ำมันเครื่องบิน จะใช้ราคาน้ำมันเครื่องบินเฉลี่ยเดือน ก่อนหน้า ในขณะที่ต้นทุนขายที่ธุรกิจการตลาดซื้อจากธุรกิจโรงกลั่นเป็นราคาน้ำมันเครื่องบินในเดือน ส่งมอบนั้นๆ ส่งผลให้ในช่วงที่ราคาน้ำมันเครื่องบินมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น การจำหน่ายน้ำมันเครื่องบินจะมี ผลขาดทุน แต่ในทางกลับกันหากเป็นช่วงที่ราคาน้ำมันเครื่องบินเริ่มคงที่หรือลดลง บริษัทฯ ก็จะมีกำไรกลับมาเช่นกัน 1.4 ในปี 2547 บริษัทฯ มีค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร 1,367 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อน 175 ล้านบาท เนื่องจากในปี 2546 มีค่าใช้จ่ายตามแผนการปรับโครงสร้างธุรกิจและการเงินรวม จำนวน 233 ล้านบาท บันทึกอยู่ในค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร 1.5 ในปี 2547 บริษัทฯ มีดอกเบี้ยจ่าย 787 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อน 241 ล้านบาท เป็นผลจากการ Refinance หุ้นกู้เดิมส่วนใหญ่ด้วยเงินทุนใหม่ที่ได้จากการปรับโครงสร้างการเงิน นอกจากนี้ บริษัทฯ มีดอกเบี้ยรับ 18 ล้านบาท ลดลง 17 ล้านบาท จากการที่บริษัทฯ ได้รับวงเงินกู้จากธนาคารพาณิชย์เพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนตามแผนการปรับโครงสร้างการเงิน บริษัทฯ จึงไม่มีความจำเป็นต้องถือเงินสดเป็นจำนวนมากเพื่อเตรียมไว้ชำระค่าน้ำมันดิบ จึงเรียนมาเพื่อโปรดทราบ ขอแสดงความนับถือ (นายปฏิภาณ สุคนธมาน) รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานด้านบัญชีและการเงิน สำนักแผนกิจการและนักลงทุนสัมพันธ์ โทร. 0 -2335-4583